จากกรณีที่ เอกสารข่าวของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 16 ส.ค. 66 ระบุในข้อที่ 4 ว่า ที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญได้มีการประชุมพิจารณาในกรณีเรื่องประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องจาก สส.ฝ่ายค้าน (ในสมัยประชุมก่อนหน้า) รวม 54 คน ว่า นายศักดิ์สยาม รมว.คมนาคม ผู้ถูกร้อง ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อย่างแท้จริง
ส่งผลทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายศักดิ์สยามหยุดปฏิบัติหน้าที่ในเวลาต่อมา
ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคําร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบ มาตรา 147 หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 4/2566)
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จํานวน 54 คน ยื่นคําร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ร้อง) ว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ผู้ถูกร้อง) ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้น และเจ้าของห้างหุ้นส่วนจํากัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อย่างแท้จริง ซึ่งจะทําให้ผู้ถูกร้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับ การบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วน
เป็นการกระทําอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ประกอบพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 มาตรา 4 (1) เป็นเหตุให้ ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่ ผู้ร้องจึงส่งคําร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82
และศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคําร้องและเอกสารประกอบคําร้องแล้วมีคําสั่งรับคําร้องนี้ไว้พิจารณา วินิจฉัยและสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําวินิจฉัย
ซึ่งผลการพิจารณา ระบุว่า "ศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเพื่อนําไปสู่การวินิจฉัย"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลกา่รพิจารณาดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญ หมายความว่านายศักดิ์สยามยังคงอยู่ภายใต้การสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีต่อไป ส่วนความเป็นรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลงหรือไม่ยังคงต้องรอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง
มานะ นิมิตรมงคล ติงรัฐบาลใหม่ไม่ควรดึงคนมีปัญหานั่งรมต.
ด้าน ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงกระแสข่าวการจัดตั้งรัฐบาลและเริ่มมีการแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีกันแล้วว่า ขอเรียกร้องพรรคการเมืองทุกพรรคอย่าตั้งนักการเมืองมาเป็นรัฐมนตรี หากคนนั้นมีคดี มีเรื่องที่ไม่ชอบมาพากล และอาจจะนำไปสู่การถอดถอนตำแหน่ง หรือมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ละเว้นงานการเมืองตามกฎหมาย หากให้มาอยู่ในตำแหน่งจะทำให้ประชาชนขาดความศรัทธา เสียความเชื่อมั่น
"ฝากถึงรัฐบาลที่กำลังจะจัดตั้งเร็วๆนี้ เป็นที่จับตาและเป็นที่คาดหวังของประชาชนที่อยากเห็นการแก้ไขปัญหาวิกฤตคอร์รัปชัน และทุกท่านจะต้องไม่เป็นคนที่มาซ้ำเติมปัญหาให้หนักนาสาหัสเลวร้ายยิ่งขึ้น"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ดร.มานะ ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงเรื่อง “คอร์รัปชันเชิงระบบ” เกี่ยวข้องกับส่วย - สินบนอย่างไร? ระบุว่า คอร์รัปชันเชิงระบบ มีสองความหมาย
ความหมายแรกคือ "การเอาช่องว่างของระบบราชการไปใช้ในการโกง" เช่น คอร์รัปชันในการจัดทำ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีของ ส.ส., คอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างที่ปฏิบัติถูกระเบียบ เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย (Process) แต่มีการโกงกิน ผลลัพธ์ (Result) คือ รัฐซื้อแพง ได้ของไม่ดี ไม่คุ้มค่า
ในความหมายนี้ยังพบได้ว่า มีหลายกรณีที่ผู้มีอำนาจเจตนาสร้างเงื่อนไขโดยเปลี่ยนแปลงหรือขยายระบบเดิม ด้วยการออกหรือแก้ไขนโยบาย กฎหมายหรือกฎระเบียบเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดช่องว่างหรือไปรองรับแผนการโกงให้ดูดีมีความชอบธรรม (Legalized) เช่น โครงการสร้างโรงพักและแฟลตตำรวจ โครงการบ้านเอื้ออาทร
ความหมายที่สองคือ "ตัวระบบเองส่งเสริมให้เกิดการโกง" ที่กล่าวถึงกันมากเช่น วงการตำรวจที่ใครเข้าไปมักหนีไม่พ้นวังวนส่วย สินบน การวิ่งเต้นเส้นสาย ซื้อขายตำแหน่ง หากใครไม่ยุ่งเกี่ยวก็อยู่ยาก โตไม่ได้
หรือกรณีกฎหมายยอมให้หน่วยงานรัฐกว่าร้อยแห่ง ได้รางวัลนำจับจากการปฏิบัติตามหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิด จนเกิดความลักลั่นไม่เป็นธรรมและเป็นช่องว่างให้พวกเขาเลือกเอาได้ว่าจะรับ #ส่วยสินบน จากคนทำผิด หรือรับรางวัลนำจับตามกฎหมายแถมยังได้ผลงาน
สรุปคือ เพราะมีระบบที่เอื้อให้คนโกง เราจึงไม่มีทางหยุดยั้งคอร์รัปชันได้เลยถ้าระบบไม่เปลี่ยนแปลง โดยสิ่งที่ต้องทำก่อนคือ การเปิดเผยข้อมูล การบริการประชาชนต้องปรับให้ทันโลก สั้น ง่าย ใช้เทคโลยี่
ที่เป็นเช่นนี้เพราะ ระบบราชการถูกออกแบบไว้นานแล้วโดยเน้นให้ง่ายสำหรับเจ้าหน้าที่ในการใช้อำนาจและปฏิบัติหน้าที่ สะดวกในการสอดส่องควบคุมกิจกรรมของเอกชนและประชาชน
แต่มันขาดการประยุกต์ให้ทันสมัย ลดภาระให้ประชาชนและรัฐเอง การตรวจสอบถ่วงดุลและกำกับให้เกิดธรรมาภิบาลก็เป็นเรื่องยากเกินไป