ป.ป.ช.เชือด 2 อดีตผู้ว่าฯ มุกดาหาร-อุบลราชธานี คดีทุจริตจัดซื้อยาฆ่าแมลง

06 ก.ย. 2566 | 08:32 น.
อัพเดตล่าสุด :06 ก.ย. 2566 | 08:37 น.

ป.ป.ช.ชี้มูล 2 อดีตผู้ว่าฯ มุกดาหาร-อุบลราชธานี “ชาญวิทย์ วสยางกูร -สุรพล สายพันธ์” ปมทุจริตจัดซื้อยาฆ่าแมลง ส่งดำเนินคดีทั้งอาญา วินัย ชดใช้ค่าเสียหาย

วันนี้ (6 ก.ย.66) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด นายชาญวิทย์ วสยางกูร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร  พร้อมพวก กรณีดำเนินการออกประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ด้านพืช) โดยมิชอบ

และร่วมกันทุจริตการใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อจัดซื้อสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ด้านพืช) ของอ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร   ประจำปีงบประมาณ 2553 - 2555 จำนวน 10 ภัย หรือ 10 ครั้ง เป็นเงินทั้งสิ้น 165,467,260 บาท โดยเล็งเห็นผลประโยชน์อันเกิดจากส่วนต่างของราคา ที่กำหนดให้จัดซื้อและราคาตลาดทำให้ราชการได้รับความเสียหาย 
 

และชี้มูลความผิด นายชาญวิทย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร พร้อมพวก กรณีออกประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ด้านพืช) โดยมิชอบ และร่วมกันทุจริตการใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อจัดซื้อสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ด้านพืช) ของอ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร ประจำปีงบประมาณ 2554 - 2555 จำนวน 11 ภัย หรือ 11 ครั้ง วงเงิน114,366,250 บาท ทั้งที่ไม่มีภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินเกิดขึ้นจริง 

โดยพบว่า ไม่ได้เกิดการระบาดรุนแรงของโรคในพื้นที่ แต่เป็นการเกิดโรคพืชตามปกติของฤดูกาลเท่านั้น และการจัดซื้อสารเคมีมีการซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาที่จำหน่ายตามท้องตลาด ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหายเป็นเงิน 58,588,983 บาท 

ทั้งนี้ ป.ป.ช.เห็นว่า การกระทําของ นายชาญวิทย์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา 157 ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 มาตรา 11 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มาตรา 90 และมาตรา 91 ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยป.ป.ช. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

การกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ มีมูลความผิดทางอาญา และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง หรือข้อกล่าวหาตกไป ตามแต่พฤติการณ์แห่งกรณี

ส่วนการกระทำของกลุ่มเอกชน ผู้ขายสารเคมีที่มี นายเกรียงไกร วรรณเสริมสกุล เป็นตัวการ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับ การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 11 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86

ด้านการกระทำของ นางสาวชฎาพร ศุภสรรพตระกูล มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 11 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และกลุ่มเอกชนที่เกี่ยวข้อง มีมูลความผิดทางอาญา   ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐ

นอกจากนี้ ป.ป.ช. ยังชี้มูลความผิด นายสุรพล สายพันธ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมพวก กรณีทุจริตในการจ่ายเงินทดรองราชการเพื่อจัดซื้อสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ด้านพืช) อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ปีงบประมาณ 2555 โดยไม่มีภัยระบาดฉุกเฉินเกิดขึ้นจริง และเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มเอกชนผู้ประกอบการบางราย ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการในปีงบประมาณ 2555 รวมทั้งสิ้น 539,245,050 บาท 

ป.ป.ช.เห็นว่า การกระทำของ นายสุรพล มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 91 ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 11 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และมาตรา 91 ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยป.ป.ช. 2542และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และมาตรา 91 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง      

และ การกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด และระดับอำเภอ มีมูลความผิดทางอาญา และความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง หรือข้อกล่าวหาตกไป ตามแต่พฤติการณ์แห่งกรณี 

ส่วนการกระทำของ นายเกรียงไกร วรรณเสริมสกุล มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 149 และมาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 91 ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 11 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมาตรา 91 และกลุ่มเอกชนที่เกี่ยวข้อง มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐ 

โดยทั้งหมด ป.ป.ช. ได้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจ ส่งรายงานสํานวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคําวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย ตามฐานความผิดดังกล่าว 

รวมทั้งให้แจ้งผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และให้แจ้งข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำของกลุ่มบริษัทเอกชนให้กรมบัญชีกลางดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป