เปิดกฎหมาย คดี "อิทธิพล คุณปลื้ม" จำเลยหนี หยุดนับเวลา-ไม่หมดอายุความ

06 ก.ย. 2566 | 11:58 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ย. 2566 | 11:10 น.

อธิบดีอัยการ ทุจริตภาค2  ชี้ "อิทธิพล คุณปลื้ม"  ในฐานะจำเลยหลบหนี อาจต้องหยุดนับระยะเวลา เข้าข่าย ม.13 พ.ร.บ.วิธีการพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 คดีถือว่ายังไม่หมดอายุความ 

จากกรณีที่พนักงานอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 2 ได้นัดให้ ป.ป.ช. นำตัว นายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีตนายกเมืองพัทยา มาพบพนักงานอัยการ เพื่อยื่นฟ้องคดี เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา

ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ในการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ลงวันที่ 10กันยายน 2551 ให้แก่บริษัท บาลี ฮาย จำกัด เพื่อก่อสร้างอาคารโครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ บริเวณเชิงเขาพระตำหนักเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี

แต่นายอิทธิพลไม่ได้เดินทางมาตามนัดหมาย พนักงานอัยการ จึงแจ้งให้ ป.ป.ช. ผู้ร้องไปดำเนินการขอศาลออกหมายจับ และศาลออกหมายจับเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถนำตัว นายอิทธิพล มาส่งมอบให้กับทางพนักงานอัยการ เพื่อส่งฟ้องต่อศาลได้ 

ล่าสุดวันที่ 6 ก.ย. นายคำนึง วงษ์ทวีทรัพย์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค2 กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อจากนายอิทธิพล คุณปลื้ม ว่าจะเข้ามามอบตัว แต่จะต้องนำตัวนายอิทธิพล มาส่งฟ้องให้ได้ภายในวันศุกร์ที่ 8 กันยายน 2566 นี้

มิฉะนั้น อายุความคดี ซึ่งมีอายุความ 15 ปี ก็จะสิ้นสุดหมดอายุในวันที่ 10 กันยายน 2566 นี้ ซึ่งอาจจะไม่สามารถดำเนินคดีเอาผิดกับนายอิทธิพล ตามกฏหมายได้ เพราะคดีหมดอายุความ 

แต่ทั้งนี้จะต้องนำไปพิจารณาต่อว่า คดีของนายอิทธิพล คุณปลื้ม จะเข้าข่ายตามมาตรา 13 พ.ร.บ.วิธีการพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 หรือไม่ ที่ระบุว่า

"ในกรณีผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไป ในระหว่างการถูกดำเนินคดี หรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหา หรือจำเลยหลบหนี รวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ ซึ่งหากเข้าข่ายก็จะต้องมีการขอหมายจับเพื่อเอาตัวมาดำเนินคดีต่อไป เพราะยังถือว่าคดียังไม่หมดอายุความ"

นายคำนึง กล่าวอีกว่า สำหรับคดีนี้ มีผู้ร่วมกระทำผิด และถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดรวม 10 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มแรก คือกลุ่มผู้ออกใบอนุญาต มี 5 คน ซึ่งมีนายอิทธิพล คุณปลื้ม รวมอยู่ด้วย และกลุ่มที่ 2 คือกลุ่มผู้อนุญาตให้ก่อสร้าง มี 5 คน

โดยในคดีนี้กลุ่มแรกได้ถูกนำตัวส่งฟ้องไปแล้ว 4 คน ขาดนายอิทธิพล คุณปลื้ม ที่ยังไม่มามอบตัว และ กลุ่มที่ 2 อีก 5 คน ก็ยังคงหลบหนี 

 

สภาทนาย ชี้คดี “อิทธิพล” ขาด 10 ก.ย. ตาม ป.อาญา ม.157 ต้องนำตัวมาฟ้องใน 15 ปี 

วันที่ 7 กันยายน 66 นายวีรศักดิ์ โชติวานิช รองโฆษกสภาทนายความ กล่าวว่า
ข่าวการดำเนินคดีกับนายอิทธิพล กับพวกที่ไม่มารายงานตัวกับอัยการเพื่อฟ้องต่อศาล จนคดีจะขาดอายุความวันที่ 10 ก.ย.เป็นเรื่องฮือฮาที่มีการวิพากษ์ถึงการสอบสวนโดย ป.ป.ช. ว่าควรมีการปรับปรุงหรือไม่

ต้องย้อนไปดูว่า พนักงานสอบสวนคดีนี้คือ ป.ป.ช.ได้แจ้งข้อกล่าวหาว่า เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 บัญญัติว่า ต้องระวางโทษจาคุกตั้งแต่1 ปี ถึง 10 ปีหรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95 (2)บัญญัติไว้ว่าถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายใน 15ปี เป็นอันขาดอายุความ

เมื่อ ป.ป.ช.ยังไม่อาจนำตัวส่งทางอัยการ และอัยการยังไม่ได้ตัวมาฟ้องต่อศาล ก็ต้องพิจารณาถึงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39  (6)สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป เมื่อคดีขาดอายุความ เมื่อสิทธิการดำเนินคดีอาญาระงับไปแล้ว อัยการจึงไม่อาจนำคดีมาฟ้องได้อีก 

นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า คดีนี้จะเห็นได้ว่า ป.ป.ช. มีเวลาทำสำนวนและเอาตัวผู้ต้องหามาส่งอัยการนานถึง15ปี แต่ความเป็นจริงกลับเพิ่งส่งสำนวนให้อัยการไม่ถึงเดือนก่อนจะขาดอายุความ เพราะเหตุใด ป.ป.ช.ถึงทำสำนวนล่าช้าขนาดนี้ ซึ่งตรงนี้ต้องไปดู กฎหมายป.ป.ช.เรื่องการสอบสวนจะเห็นว่ามีความแต่งต่างกับ พรบ.การสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ตรงที่ป.ป.ช.สอบสวนได้เองโดยไม่ต้องมีอัยการเข้าร่วม แต่ดีเอสไอสอบสวนจะต้องมีอัยการเข้าร่วม

ดังนั้นสำนวนของดีเอสไอจะไม่มีปัญหาเรื่องขาดอายุความเพราะมีอัยการคอยกำกับอยู่ ถึงเวลาแล้วจะต้องกลับมาดูว่า ควรแก้ไขปรับปรุงวิธีการสอบสวนของป.ป.ช.ให้เหมือนดีเอสไอ สังคมและผู้มีอำนาจต้องช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ มิเช่นนั้น จะเกิดเหตุซ้ำซาก คดีนายอิทธิพล หากหนีจนขาดอายุความ ไม่ใช่คดีแรก แต่มีคดีพ่ออดีต รมช.ศึกษาฯเกิดขึ้นมาก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่า สำนักงานอัยการคดีปราบปรามการทุจริตภาค 2 ที่ให้ ป.ป.ช.ไปขอหมายจับศาลใหม่โดย เล็งตีความกฎหมาย ป.ป.ช.ใหม่เรื่องไม่ให้นับอายุความนั้น รองโฆษกสภาทนายความ กล่าวว่า เป็นคนละเรื่องกัน เพราะคดีนายอิทธิพล หนีจนไม่ได้ตัวมาฟ้อง ยังไม่ถึงศาล เเต่เรื่องการไม่นับอายุความ อัยการต้องได้ตัวมาฟ้องศาลแล้วต่อมาได้ประกันตัวและหนีระหว่างได้ประกันตัว คดีตัวต้องอยู่ในอำนาจศาลแล้วเท่านั้น ในหมายจับคดี 157 ก็จะมีเขียนอยู่ว่าให้จับกุมตัวมาได้จนถึงวันที่เท่าไหร่

เรื่องนี้ ปปช.ก็คงจะไปขอออกหมายจับใหม่ตามที่อัยการบอก เพื่อให้ศาลตีความถ้าตีความตามกฎหมาย ป.ป.ช.ใหม่ก็ออกหมายใหม่ เเต่ถ้าไม่ตีความใช้กฎหมายเดิมก็ยกคำร้องให้หมายจับเดิมมีผลถึงวันที่ 10 ก.ย.นี้ซึ่งครบ 15 ปี