จากกรณีที่ คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติ ปรับวิธีจ่ายเงินเดือนข้าราชการ จากเดือนละ 1 รอบ เป็น 2 รอบ โดยคาดว่าเริ่มได้ในวันที่ 1 มกราคม 2567 เพื่อช่วย บรรเทาทุกข์ข้าราชการ ชั้นผู้น้อยเพิ่มสภาพคล่อง และจะได้ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินนั้น
นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา และอดีตนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ ส.บ.ม.ท. กล่าวแสดงความไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ โดยมองว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด และจะส่งผลกระทบกับภาพรวมทั้งระบบ
ทั้งนี้ เพราะข้าราชการทุกคน ควรมีสิทธิ เสรีภาพที่จะได้รับเงินเดือนเต็มจำนวน การแบ่งจ่าย 2 รอบ มองว่าเป็นการเอาปัญหาของข้าราชการบางคน มากระทบกับข้าราชการทุกคน และไม่ได้ทำให้หนี้ลดลง อีกทั้งยังกระทบในการวางแผนการใช้เงิน โดยเฉพาะคนที่เป็นหนี้จะวางแผนบริหารจัดการการเงินเพื่อจ่ายหนี้ได้อย่างไร ในเมื่อสิ้นเดือน เงินเหลือแค่ครึ่งเดียว แต่ต้องแบกรับทั้งค่าครองชีพ และใช้หนี้ ซึ่งทุกวันนี้ข้าราชการที่เป็นหนี้ จะถูกหักชำระหนี้ ตั้งแต่ก่อนที่เงินเดือนจะโอนเข้าบัญชีตอนสิ้นเดือน เมื่อหักแล้ว เงินเหลือเท่าไหร่ถึงจะโอนเข้ามา
ดังนั้น หากจะแก้ในเรื่องหนี้สินให้ตรงจุดเพื่อช่วยข้าราชการ รัฐบาลควรช่วยด้วยการหาแหล่งกู้เงินดอกเบี้ยต่ำให้ข้าราชการสามารถกู้ยืม เพื่อรวมหนี้สินไว้ที่เดียวกันทั้งหมด โดยคิดอัตราดอกเบี้ย ไม่เกินร้อยละ 3-3.5 ต่อปี เนื่องจากทุกวันนี้ ต้องจ่ายทั้งหนี้สหกรณ์ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงถึงร้อยละ 8 - 10 ไม่รวมหนี้บัตรเครดิตต่างๆที่คิดดอกเบี้ยร้อยละ 23 ต่อปี
“ผมมองว่านโยบายนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ข้าราชการกลุ่มใดเลย และไม่เข้าใจว่ารัฐบาลทำไปเพื่อแก้ปัญหาหนี้ หรือต้องการกระตุ้นเศรฐกิจ หากเป็นคนที่ต้องรับเงินรายสัปดาห์ หรือได้ค่าแรงรายวัน อาจจะรู้สึกได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ แต่ในส่วนของข้าราชการที่คุ้นเคยกับการได้เงินเป็นรายเดือน แล้วมาวางแผนระบบชีวิตในการรับเงินเดือนเต็มเดือน ถือว่านโยบายนี้ เกาไม่ถูกที่คัน” นายรัชชัยย์กล่าวในที่สุด