thansettakij
"จรัญ ภักดีธนากุล" ไขปมเข้าใจผิด อำนาจ "รัฏฐาธิปัตย์" ชี้ นายกฯไม่ใช่ ปธน.

"จรัญ ภักดีธนากุล" ไขปมเข้าใจผิด อำนาจ "รัฏฐาธิปัตย์" ชี้ นายกฯไม่ใช่ ปธน.

14 ก.ย. 2566 | 12:14 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ย. 2566 | 14:04 น.

จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการ ศาล รธน. ไขปมเข้าใจผิด อำนาจ "รัฏฐาธิปัตย์" หลังเกิดข้อถกเถียงสนั่น พร้อมชี้อำนาจนายกฯ ต้องสั่งการผ่านมติ ครม. เพราะประเทศไทยไม่ใช่ระบอบประธานาธิบดี

"รัฐบาลนี้เป็นรัฏฐาธิปัตย์" ช่วงตอนหนึ่งของการแถลงข่าวครั้งแรก โดย "หมอชัย" นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีป้ายแดง (โฆษกรัฐบาล) ทำเอาเกิดสังคมเกิดข้อถกเถียงกันถึงความถูกต้องของนิยามคำว่า "รัฏฐาธิปัตย์" เนื่องจากคำนี้มักคุ้นหูมาจากการใช้อำนาจของคณะปฏิวัติรัฐประหาร

ฐานเศรษฐกิจ จึงขอความกระจ่างในเรื่องนี้จากศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  ในเบื้องต้น อ.จรัญ มองเป็น 2 ฉากทัศน์ คือ ผู้พูดกล่าวตามกฎหมายที่ควรจะเป็น หรือกฎหมายในปัจจุบันเป็นอย่างนั้น ซึ่งไม่ควรชีว่าใครผิดใครถูกแต่เป็นการสื่อสารกันคนละความหมาย แต่ปัญหาคือความเข้าใจของประชาชน ที่จะรู้สึกว่า อำนาจในรูปแบบที่ทำอะไรก็ได้มาอีกแล้วหรือ 

อ.จรัญ ให้นิยามของคำว่า "รัฏฐาธิปัตย์" ว่ามาจากคำว่า "รัฐ" สนธิกับคำว่า "อธิปัตย์" ซึ่งก็คือผู้มีอำนาจปกครองประเทศขึ้นอยู่กับแต่ละระบอบการปกครอง การที่เราเอาคำว่า "รัฏฐาธิปัตย์" มาใช้กับการปฏิวัติรัฐประหารมานาน จึงถึงทำให้เข้าใจความหมายแคบ 

ซึ่งคำว่า "รัฏฐาธิปัตย์" ก็คือผู้ที่มีอำนาจปกครองประเทศ ซึ่งถ้าในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ย่อมหมายถึง พระมหากษัตริย์ ในระบอบประธานาธิบดี ผู้มีอำนาจสูงสุดในระบอบนี้คือตัวประธานาธิบดีเอง ดุลคานอำนาจกับ สภาคองเกรส และศาลสูงสุดฝ่ายตุลาการ หากเป็นระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ อำนาจสูงสุดจะอยู่ที่พรรคคอมมิวนิสต์ 

ในระบบเสรีประชาธิปไตย ให้ถือว่ารัฐสภา คือผู้มีอำนาจสูงสุด สูงกว่าคณะรัฐมนตรี และศาล ซึ่งประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น ไม่ได้ถือหลักอำนาจสูงสุดเป็นของรัฐสภา 

แต่ถือเอารัฐธรรมนูญเป็นหลักสูงสุด ที่จะมีการใช้อำนาจบริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ ที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในระบบเช่นนี้มาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ตนเองเข้าใจว่าการสื่อสารของโฆษกรัฐบาลนั้นต้องการสื่อสารถึงการมีอำนาจสูงสุดที่จะปกครองประเทศของรัฐบาล ในระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน แต่ต้องดุลคานอำนาจโดยรัฐสภา และศาลรัฐธรรมนูญ

สำหรับประเด็นที่โฆษกรัฐบาล กล่าวถึงการยกเลิกคณะกรรมการยุค คสช. และ คำสั่ง คสช. พร้อมระบุว่า ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี มีผลเท่ากับเป็นมติ ครม. นั้น อ.จรัญกล่าวว่า หากเป็นการพูดตามความเข้าใจ ว่านี่คือกฎหมายที่ควรจะเป็น ก็ไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูก 

เนื่องจากประกาศคณะปฏิวัติส่วนใหญ่มีฐานะเทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ดังนั้นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงยกเลิกเพิกถอน ต้องทำโดยกฎหมายระดับพ.ร.บ. ไม่สามารถทำโดยคำสั่งของบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้เว้นเสียแต่บุคคลนั้น เป็นองค์รัฏฐาที่ปัตย์ เช่น หัวหน้าคณะรัฐประหาร

ทั้งนี้ อ.จรัญกล่าวว่า ข้อสั่งการของนายกฯที่จะมีผลเทียบเท่ากับมติ ครม. ก็ต่อเมื่อต้องเป็นกรณีที่ ครม. มีมติมอบหมายให้นายกฯ ไปสั่งการดำเนินการเรื่องใดบ้าง ก็จะถือว่าข้อสั่งการเหล่านั้นเป็นไปตามมติครม. 

แต่ไม่ใช่ว่านายกฯ คนเดียวจะสามารถใช้อำนาจแต่เพียงลำพังสั่งการอะไรได้ โดยที่ครม.ไม่รับทราบหรือไม่เห็นชอบด้วย เพราะลักษณะเช่นนั้นจะเป็นรูปแบบการปกครองในระบอบประธานาธิบดี