“เศรษฐา” เตรียมถก กฤษฎีกา เคลียร์ปมยกเลิกคำสั่งคสช.

14 ก.ย. 2566 | 08:33 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ย. 2566 | 08:39 น.

นายกรัฐมนตรี เตรียมหารือ คณะกรรมการกฤษฎีกา เคลียร์ปมยกเลิกคำสั่งคสช. รับต้องไม่ขัดหลักนิติธรรมของประเทศ ชี้ตั้ง อุ๊งอิ๊ง นั่งรองประธาน Soft Power ดึงคนที่มีความรู้ทำงานร่วมรัฐบาล

วันนี้ (14 กันยายน 2566) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางยกเลิกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามข้อสั่งการของนายกฯในช่วงการประชุมครม.เมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่ผ่านมา ว่า แนวทางยกเลิกคำสั่งคสช.นี้ จะต้องปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อน

“กฎหมายบางข้อที่ไม่ได้ใช้แล้ว และเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตของประชาชนและการปฏิบัติหน้าที่ก็ยกเลิกไป ถ้ายกเลิกไม่ได้ก็นำกลับเข้าสู่ที่ประชุมครม.ใหม่ ซึ่งเป็นเพียงการพูดคร่าว ๆ ว่า เราพยายามทำให้เป็นรัฐสนับสนุน ถ้ากฎหมายที่บอกทำไม่ได้ก็อยากให้รีบทำ แต่ต้องไม่ขัดหลักนิติธรรมโดยรวมของการบริหารประเทศ และการดำเนินธุรกิจด้วย” นายเศรษฐา ระบุ

 

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ส่วนการจะตั้งรองนายกฯฝ่ายกฎหมายหรือผู้ที่สามารถมาสื่อสารเรื่องกฎหมายขึ้นมาดูแลหรือไม่นั้น นายเศรษฐา ยอมรับว่า เรื่องนี้รัฐบาลขอรับไปปรับปรุง และจะแจ้งมาอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะหากยังไม่ครบทั้งหมดก็อาจยังไม่รีบแถลง  โดยตอนนี้รัฐบาลเข้าใจว่าประชาชนอยากทราบเรื่องที่เราคิดอยู่ทำอยู่ต่อไป แต่อะไรที่ยังไม่ครบ 100%  ก็อาจจะยังไม่แถลง 

ผู้สื่อข่าวถามถามย้ำว่า จะมีรองนายกฯฝ่ายกฎหมายหรือไม่ นายกฯ กล่าวสั้น ๆ แค่ว่า “เดี๋ยวจะมีมาบอก” 

ส่วนการแบ่งงานกำกับดูแลเรื่องความมั่นคงนั้น นายกฯ ยอมรับว่า จะเป็นผู้ดูแลงานด้านความมั่นคงเอง โดยเห็นว่า เรื่องความมั่นคงมีหลายมิติ มีทั้งมิติภายใน และมิติภายนอก เรื่องการปกป้องอธิปไตยของประเทศก็เป็นเรื่องสำคัญ รวมทั้งเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความร้อนแรง แต่ก็หนักไปทางด้านการค้า ก็อาจจะเกี่ยงโยงไปถึงเรื่องความมั่นคงด้านอื่นได้ด้วย จึงต้องดูให้ดี

“เราเป็นประเทศที่ไม่ใหญ่มาก แต่เราเป็นประเทศที่มีความภาคภูมิใจในความที่เราเป็นประเทศไทยที่เรามีเอกราชมาโดยตลอด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็อยู่บนโลกที่มีความขัดแย้งสูง ดังนั้นในการเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งผมจะเดินทางไปสหประชาชาติ จะมีการพบปะพูดคุยกับผู้นำหลาย ๆ ประเทศ ตรงนี้เป็นความมั่นคงทางด้านนอกประเทศ ทางด้านการค้า ส่วนความมั่นคงภายในก็ต้องมีความพร้อม”

 

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ส่วนฝ่ายความมั่นคงกับประชาชนก็มีความสำคัญ เพราะอดีตที่ผ่านมาอาจมีการพูดจารุนแรงไปบ้าง แต่ต่อไปจะพยายามลดช่องว่างระหว่างสถาบันทหารกับประชาชน โดยที่ให้มีการสื่อสารที่ดีขึ้น และทำกิจกรรมหรือประโยชน์ให้กับประชาชน เช่น การเกณฑ์ทหารโดยสมัครใจ หรือ เอาพื้นที่ของทหาร ที่ราชพัสดุ ให้ประชาชนทำการเกษตร หรือให้ทหารมาช่วยดูแลภัยพิบัติ แก้ปัญหาภัยแล้ง ด้วย

ขณะที่นโยบายรัฐบาลในการกำหนด KPI ของผู้ว่าราชการ ตำรวจ และฝ่ายความมั่นคงในจังหวัดต่าง ๆ ปราบปรามผู้มีอิทธิพลนั้น นายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้พูดคุยในเรื่องรายละเอียด ว่า KPI จะเป็นอย่างไร โดยขอไปพูดคุยกับฝ่ายความมั่นคงก่อน หากมีแผนงานทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว จะแถลงข่าวอีกครั้ง แต่ขอให้สบายใจได้ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ในกรณีการแต่งตั้ง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หรือ อุ๊งอิ๊ง เป็นรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ Soft Power นั้น นายกฯ ยอมรับว่า เป็นความพยายามจะให้ทุกภาคส่วนมีคนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมกันทำงานกับรัฐบาล เพื่อที่จะผลักดันเรื่องนี้ให้ความเป็นอยู่ประชาชนดีขึ้น

 

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง