“วินัย ทองสอง” ก.ตร.เสียงข้างมากแจงโหวต“บิ๊กต่อ”นั่ง ผบ.ตร. มีภาวะผู้นำสูง

28 ก.ย. 2566 | 04:36 น.
อัพเดตล่าสุด :28 ก.ย. 2566 | 04:46 น.

“พล.ต.อ.วินัย ทองสอง” ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ย้ำโหวตให้ “บิ๊กต่อ” นั่งผบ.ตร. คนที่ 14 เหตุภาวะผู้นำสูง ลูกน้องต้องเชื่อมั่น ใจถึงพึ่งได้ มีความสามารถ ประสบการณ์ด้านป้องกันปราบปราม ไม่หวั่นถูกฟ้องร้องภายหลังแจงเป็นสิทธิพึงกระทำได้

ภายหลังการประชุม คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) พิจารณาวาระสำคัญแต่งตั้ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนที่ 14 แทน พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายนนี้ ปรากฏว่าในที่ประชุมพบว่า เสียงข้างมาก เทคะแนนให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ขึ้น ผบ.ตร.คนใหม่นั้น

พล.ต.อ.วินัย ทองสอง หนึ่งใน ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ เปิดเผยว่า ต้องยอมรับว่า รอง ผบ.ตร.ทั้ง 4 ท่านที่เป็นแคนดิเดตกันนั้น ถือว่าเป็นคนมีความรู้ความสามารถทั้งหมด แต่จำเป็นจะต้องเลือกคนที่ดีที่สุด ซึ่งก่อนการประชุมพิจารณานั้น ได้มีการไล่เรียงความเป็นผู้นำ เพราะคนที่จะมาเป็นผู้นำหน่วยนั้น ต้องเป็นคนที่ลูกน้องเชื่อมั่น ทำนอง “ใจถึงพึ่งได้”

พล.ต.อ.วินัย กล่าวว่า ในที่ประชุม ทางนายกรัฐมนตรี ได้มีการสอบถามความคิดเห็นของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ผบ.ตร.คนปัจจุบันด้วย ในฐานะที่ท่านเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด และทำงานร่วมกันมากับ รอง ผบ.ตร.ทั้ง 4 คน ได้มีการมอบหมายงานสำคัญๆ ในช่วงระยะเวลา 1 ปี ซึ่งทางท่านผบ.ตร.ไม่ได้บอกว่าใครบกพร่อง เป็นการให้ความเห็นที่จะนำไปสู่การตัดสินใจได้

“จริงๆ แล้วตามกฎหมายใหม่ ให้คำนึงถึงความเป็นอาวุโสด้วย แต่เป็นการให้น้ำหนักแบบครึ่งๆ ในประเด็นความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ในการป้องกันปราบปรามมาพิจารณาด้วย ไม่ได้มีการกำหนดคะแนนเป็นตัวเลข แต่การคัดเลือกผู้นำในระดับ ผบ.ตร. นั้น กฎหมายได้เขียนไว้กว้างๆ ว่า จะต้องพิจารณาตามความรู้ ความสามารถ เรื่องนี้ได้มีพูดคุยกันใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมง”

พล.ต.อ.วินัย เล่าอีกว่า ก่อนการพิจารณา ทางท่านนายกรัฐมนตรี ได้มีการสอบถามทางท่าน ผบ.ตร.ด้วย ซึ่ง ผบ.ตร.ได้เสนอชื่อให้พิจารณา พร้อมกับให้ข้อมูลว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาได้มอบหมายงานให้แต่ละท่านทำ แล้วผลที่ได้เป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าสำคัญ เพราะการเปลี่ยนผู้นำหน่วย การกำหนดทิศทางถือเป็นเรื่องสำคัญ

“ก่อนการประชุม ทางท่านนายกฯ ได้รเชิญ ก.ตร.ทุกท่าน พูดคุยนอกรอบกันก่อน เป็นการปรึกษาหารือ พูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ เกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ เพราะบางเรื่องควรพูดคุยกันก่อน”

ส่วนที่อาจจะมีการฟ้องร้องตามหลังมานั้น พล.ต.อ.วินัย กล่าวว่า เป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ แต่เชื่อว่าคณะกรรมการได้พิจารณาด้วยความเห็นที่ถูกต้อง ไม่ได้ข้ามใครเลย มีการนำมาพิจารณากันหมดทุกประเด็น เป็นการดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย