"อ.ไชยันต์"ชี้ 3 เหตุจำเป็น"ก้าวไกล"ต้องเป็นผู้นำฝ่ายค้าน

29 ก.ย. 2566 | 03:00 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ย. 2566 | 03:12 น.

"อ.ไชยันต์"ยก 3 เหตุผลและความจำเป็น ที่ทำให้พรรคก้าวไกล ลงมติขับ "หมออ๋อง" พร้อมชู"ชัยธวัช"เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ

จากกรณีที่พรรคก้าวไกล มีมติให้ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.พิษณุโลก และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ออกจากการเป็นสมาชิกพรรค  หลังที่ประชุมใหญ่วิสามัญของพรรค  มีมติเลือก นายชัยธวัช ตุลาธน เป็นหัวหน้าพรรคแทน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์  ส่งผลมีเสียงสะท้อนจากสังคมอย่างกว้างขวาง 

 โดย ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก สะท้อนความเห็นต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้ 

ความสมเหตุสมผลและความจำเป็นที่พรรคก้าวไกลต้องเป็นผู้นำฝ่ายค้าน คือ

1.นอกเหนือจากพรรคที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลแล้ว

พรรคก้าวไกล เป็นพรรคที่มี สส.มากที่สุดในสภาฯ ซึ่งเป็นเงื่อนไขปกติที่ต้องทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ

ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

2.จากข้อ 1 ผู้นำฝ่ายค้านและคณะ จะทำหน้าที่เป็นคณะรัฐมนตรีเงา ตรวจสอบ วิจารณ์และให้คำแนะนำต่อรัฐบาล

นั่นคือ แสดงผลงานให้เป็นที่ประจักษ์เพื่อคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

3.หากมีการลงมติไม่ไว้วางใจ หรือเสียงแตกในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ทำให้ได้เสียงไม่เกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ (หลังเมษายน 2567 เป็นต้นไป) โดยไม่มีการยุบสภาฯ

ตามหลักการของระบบรัฐสภา ผู้นำฝ่ายค้านเท่านั้นที่มีความชอบธรรมที่จะทำหน้าที่เป็นแกนในการหาเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองต่างๆในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ทันที จากบทบาทของการทำหน้าที่เป็นคณะรัฐมนตรีเงามาก่อนหน้า

#ประธานสภาอังกฤษ