จากกรณีที่ "พรรคก้าวไกล" มีมติให้ "หมออ๋อง" นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และส.ส. พิษณุโลก พ้นจากสมาชิกภาพ เนื่องจากพรรคก้าวไกลต้องการทำหน้าที่ ฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์ และต้องการให้หัวหน้าพรรค ดำรงตำแหน่ง "ผู้นำฝ่ายค้าน" เพื่อกำกับทิศทางการทำหน้าที่ในสภาของฝ่ายค้าน จึงนำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ของหลายบุคคล รวมถึงการชี้ประเด็นโดย นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ว่าสามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้นั้น
ฐานเศรษฐกิจ ได้สัมภาษณ์พิเศษ รองศาสตราจารย์ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง(ก.ก.ต.) ต่อกรณีดังกล่าวโดยให้ความเห็นว่า
มีความเห็นออกเป็น 2 ทาง กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยก็มองว่า พรรคก้าวไกลไม่มีความสง่างาม เป็นการใช้เทคนิคทางกฏหมายเพื่อให้ฝ่ายของตนได้ประโยชน์
ในขณะที่อีกฝั่งก็มองว่า เป็นวิธีการทางการเมืองเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาพรรคการเมืองอื่นก็ใช้สารพัดเทคนิค เพื่อให้ฝ่ายตนเองบรรลุวัตถุประสงค์เช่นเดียวกัน
ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จากกระทบต่อความนิยมของพรรคก้าวไกลหรือไม่ สามารถดูได้จากผลการเลือกตั้งในครั้งหน้า ที่จะเป็นตัวชี้วัด ความนิยมของประชาชนอย่างแท้จริง
การที่พรรคก้าวไกลมีมติดังกล่าวนั้น ไม่มีความผิดในเชิงกฎหมาย เนื่องจากเป็นไปตามกติกา ซึ่งหากต้องการตำแหน่งของ "ผู้นำฝ่ายค้าน" จะต้องไม่มี สส.ในพรรคของตนเองไปดำรงตำแหน่งประธานสภา รองประธานสภา หรือรัฐมนตรี
ดังนั้นเมื่อพรรคก้าวไกลเลือกแล้วว่า ต้องการตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายค้าน จึงต้องสละตำแหน่งรองประธานสภา ซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธีการคือ ให้สส. ของพรรคตนเองลาออกจากการเป็นรองประธานสภาหรือ ให้ผู้ที่เป็นรองประธานสภา ลาออกจากการเป็นสส.ของพรรค ซึ่งทั้ง 2 แนวทางนี้สามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และไม่มีประเด็นให้ไปร้อง หรือฟ้องต่อหน่วยงานองค์กรใดได้อีกด้วย
รศ.สมชัย กล่าวต่อไปว่า แต่หากจะมีการร้อง ก็อาจจะเป็นการร้องเรื่องจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้
แต่ส่วนตัวมองว่า ยังไม่มีประเด็นใดที่เข้าข่ายขัดจริยธรรม และในส่วนมารยาททางการเมืองนั้นมองว่าเป็นคนละเรื่องกัน เพราะขณะโหวตตำแหน่งรองประธานสภา เป็นกระบวนการของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่เมื่อพรรคก้าวไกลกลายเป็นฝ่ายค้าน จึงต้องหาทางออกตามสถานการณ์
รศ.สมชัยเล่าต่อว่า ในอดีตการโหวตตำแหน่งประธานสภา หรือรองประธานสภา จะใช้เสียงข้างมากของสภาอยู่แล้ว ดังนั้นโอกาสที่พรรคฝ่ายค้านจะได้เป็นประธานสภาหรือรองประธานสภาจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย จึงไม่มีการกำหนดว่า ผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภา และรองประธานสภา จะต้องไม่อยู่ในพรรคการเมืองที่เป็นผู้นำฝ่ายค้าน
แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นฉบับแรกที่กำหนดเช่นนี้ ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีความผกผันทางการเมืองหลายอย่าง เช่นขณะโหวตประธานสภาและรองประธานสภายังเป็นพวกเดียวกันอยู่ แต่เมื่อโหวตเรียบร้อยปรากฏว่าปล่อยมือกัน อีกฝ่ายหนึ่งกลายไปเป็นฝ่ายค้านอีกฝ่ายหนึ่งยังคงเป็นรัฐบาล จึงเกิดกรณีนี้ขึ้น หากจะไม่ให้เกิดขึ้นอีกต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนนี้
ในตอนท้าย รศ.สมชัย กล่าวถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า คือการออกแบบรัฐธรรมนูญมาเพื่อหวังให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุด แต่เมื่อนำมาใช้จริงปรากฏว่าทำให้เกิดปัญหามากพอสมควร
ทั้งการกำหนดคุณสมบัติที่สูงมากของคณะกรรมการในองค์กรอิสระ จนทำให้ขาดบุคคลที่มีคุณสมบัติตามกฏหมายมาดำรงตำแหน่ง ทำให้หาคนมาทำงานไม่ได้จนส่งผลให้องค์กรอิสระขาดความเข้มแข็งในการทำงาน
หรือการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ที่มีเจตนาดีแต่ กลายมาเป็นอุปสรรคในการทำงาน เช่นเดียวกันกับการระบุเรื่องของผู้นำฝ่ายค้านที่มีเจตนาดี แต่ทำให้เกิดปัญหาดังที่เกิดขึ้นมานี้