"อรรถพล"ปลัดศธ. จ่อลาออก-ฟ้องศาล หลังถูกเด้งเป็นเลขาฯสกศ.

03 ต.ค. 2566 | 06:57 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ต.ค. 2566 | 07:14 น.

ปลัดกระทรวงศึกษาฯยอมรับเสียใจและรู้สึกไม่เป็นธรรม ถูกโยกเป็น"เลขาฯสกศ." เผยคิดลาออกแล้วกว่า 80% และฟ้องศาลปกครอง ด้าน"เพิ่มพูน"แจงเหตุย้ายเพราะรู้เรื่องร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ อย่างดี

วันที่ 3 ตุลาคม 2566 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบตามที่ ศธ.เสนออนุมัติแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน สังกัด ศธ.ให้ดำรงตำแหน่งประเภทผู้บริหารระดับสูง ระดับ 11 จำนวน 4 ราย

 ได้แก่ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เป็นเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) , นายสุเทพ  แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นปลัดศธ. , นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดศธ. เป็นเลขาธิการสกศ. และนายยศพล เวณุโกเศศ รองปลัดศธ. เป็น เลขาธิการ กอศ.
 

พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวถึงเหตุผลที่ตั้ง ว่าที่ร้อยตรีธนุ เป็นเลขาธิการ กพฐ. เพราะเคยเป็นรองเลขาธิการ กพฐ.มาก่อน มีความรู้ความชำนาญ ในกระบวนการคัดเลือกตนได้ให้มีการเขียนวิสัยทัศน์ และเรียกแต่ละคนเข้ามาสัมภาษณ์ จากการพิจารณาแล้ว เมื่อนายอัมพร อดีตเลขาธิการ กพฐ. เกษียณ ก็อยากได้คนที่สามารถไปทำงานร่วมกับทีมงานที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ได้

ว่าที่ร้อยตรีธนุ มีความเหมาะสม มีความคุ้นเคยกับการทำงานร่วมกับรองเลขาธิการ กพฐ. ทั้ง 3 คนอยู่แล้ว จึงคิดว่าน่าจะทำงานร่วมกันได้ดี ไม่ต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ สามารถทำงานได้เลย

นายอรรถพล สังขวาสี
ส่วนนายสุเทพ ในการสัมภาษณ์วิสัยทัศน์ ได้สอบถามว่าอยากกลับไป เลขาธิการ กอศ.หรือไม่ แต่นายสุเทพ ยืนยันว่า อยากกลับมาทำงานที่ สำนักงานปลัดศธ. มากกว่า และเดิมทีจะให้นายสุเทพ ไปเป็นเลขาธิการ กพฐ. แต่เมื่อดูประวัติแล้ว นายสุเทพ ไม่เคยอยู่ สพฐ. ดังนั้นเมื่อนายสุเทพเป็นอาวุโสอันดับ 1 จึงให้สิทธิเลือก นายสุเทพ ก็เลือกเป็นปลัดศธ. เพราะเคยอยู่ที่สำนักงานปลัดศธ.มาก่อน

ส่วนการที่ให้นายอรรถพลไปอยู่ สกศ. เพราะพิจารณาจากประวัติ ซึ่งนายอรรถพล เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สกศ.มาก่อน และเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ... ซึ่งยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภาฯ

จึงเห็นว่า นายอรรถพล น่าจะเหมาะสมที่จะไปเดินหน้าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติต่อ ไม่ต้องนับหนึ่งใหม่ เพราะมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ส่วนที่ตั้งนายยศพล เป็นเลขาธิการ กอศ. เพราะเคยเป็นรองเลขาธิการ กอศ. และได้ลองสอบถามบุคลากรอาชีวะ ก็เห็นว่าเหมาะสม


 

"การที่ให้นายอรรถพล ไปเป็นเลขาธิการ สกศ.นั้น ไม่ได้เพราะทำผลงานไม่เข้าตา แต่อยากให้นายอรรถพล ไปจัดทำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติให้แล้วเสร็จ  ถ้าให้คนอื่นที่มือไม่ถึงไปทำก็อาจเกิดความล่าช้า

นายอรรถพลเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ ก็คิดว่า เป็นหน้าที่ที่เหมาะสม อีกทั้ง นายอรรถพลยังเหลืออายุราชการอีก 1 ปี ก็คิดว่าเพียงพอที่จะจัดทำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติให้แล้วเสร็จได้ และเสนอให้สภาฯพิจารณาได้ทันและถ้าให้คนอื่นไปทำก็อาจจะต้องใช้เวลา

ทั้ง 4 คนที่ได้รับการแต่งตั้งครั้งนี้ ถือว่าเหมาะสม มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับการทำงาน   และเร็ว ๆ นี้จะเรียกทั้ง 4 คนมาพูดคุยในเรื่องการทำงานอย่างเป็นทางการต่อไป” พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าว

ด้านนายอรรถพล กล่าวว่า ส่วนตัวรู้สึกว่าการแต่งตั้งครั้งนี้ไม่เป็นธรรม และคิดว่าอยากจะลาออกจากราชการ จึงได้เข้าไปสอบถามเหตุผลกับ รมว.ศธ. และ รมว.ศธ. ก็ให้เหตุผลว่าอยากให้ช่วยเรื่องเดินหน้า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และขอให้ทำงานต่อไป เพื่อผลักดันงานวิชาการให้ประสบความสำเร็จ

ยอมรับว่ารู้สึกเสียใจ เพราะไม่ได้มีความผิดอะไร และจากนี้จะขอลาพักร้อนเป็นเวลา 10 วัน เพื่อให้รมว.ศธ. ทบทวนความเหมาะสม เพราะการให้ตนกลับไปนั่งเลขาธิการ สกศ. เหมือนกับถูกลดศักดิ์ศรี และอาจจะพิจารณาใช้ฟ้องศาลปกครอง เพื่อขอความเป็นธรรมต่อไป

“ส่วนเรื่องการลาออกจากราชการนั้น ก็จะนำไปไตร่ตรองดูอีกครั้งว่าจะอยู่ต่อหรือลาออก โดยจะขอกลับไปถามครอบครัวก่อน แต่ส่วนตัวกว่า 80% คิดว่าอยากลาออก เพราะรู้สึกว่าการแต่งตั้งครั้งนี้ไม่เป็นธรรมกับเรา ผมรับราชการมากว่า 40 ปี หลายครั้งก็โดนการเมืองเล่นงาน ทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรมมาตลอด ซึ่งผมตั้งใจทำงาน

แต่เมื่อมีมติดังกล่าวออกมา ผมก็เคารพ เพราะรมว.ศธ. คงมีดุลยพินิจแล้ว แต่ถ้าจะให้ไปเริ่มต้นทำงานที่เคยทำมาแล้ว ก็ไม่อยากที่จะทำ และผมเองก็ครบ 60 ปีแล้ว ปีนี้ถือว่าเป็นปีแถม อาจจะเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานน่าจะดีกว่า เพราะผมถือว่า ไม่ได้รับเกียรติเท่าที่ควร แต่ขอให้เวลาปรึกษาผู้ใหญ่และครอบครัวให้รอบคอบก่อน”