ครบรอบ 47 ปี รำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มหาวิปโยค

06 ต.ค. 2566 | 02:25 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ต.ค. 2566 | 02:25 น.

วันที่ 6 ตุลาคมปีนี้ เราจะมาร่วมรำลึกครบรอบ 47 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 ที่หลายคนเรียกว่า "เหตุการณ์มหาวิปโยค" ซึ่งคนรุ่นหลังควรตระหนักรู้และถอดเป็นบทเรียนประวัติศาสตร์ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นได้อีก

6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เกิด เหตุการณ์ปราบปรามอย่างรุนแรง ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากโดยส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและผู้ประท้วงฝ่ายซ้ายทั้งด้านหน้าและภายใน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ รวมทั้งบริเวณท้องสนามหลวง โดยผู้ก่อเหตุเป็นตำรวจและกองกำลังกึ่งทหารรวมทั้งคนมุงฝ่ายขวาที่มาร่วมลงประชาทัณฑ์เหล่านักศึกษาและผู้ประท้วง 

เหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นการปิดฉากการประท้วง การเดินขบวน และการยึดพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของนักศึกษา ผู้ใช้แรงงานและผู้ประท้วงที่ ต่อต้านการเดินทางกลับประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ในเดือนกันยายน 2519

ในวันที่ 6 ตุลาคมปีนั้น ตำรวจใช้อาวุธสงครามปราบปรามการประท้วง ร่วมสมทบด้วยกลุ่มฝ่ายขวาที่มาร่วมลงประชาทัณฑ์ในลักษณะร่วมมือกับตำรวจ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมากจนสื่อต่างประเทศใช้คำว่า Thammasat (University) massacre หรือ การสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการบันทึกสถิติพบผู้เสียชีวิต 45 คนที่มีการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตมีทั้งถูกยิงด้วยอาวุธปืน ถูกทุบตี และถูกเผา แต่สถิติอย่างไม่เป็นทางการจากมูลนิธิอาจารย์ป๋วย ระบุว่าน่าจะมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้มากกว่า 100 คน

การชุมนุมในม.ธรรมศาสตร์ ก่อนเกิดเหตุการณ์ปราบปรามเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ก่อนหน้าเหตุการณ์ประท้วงและการปราบปราม

ทั้งนี้ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา (พ.ศ. 2516) ทำให้รัฐบาลทหารหมดอำนาจ บ้านเมืองมีบรรยากาศเสรีภาพ และเกิดการเฟื่องฟูของความคิดฝ่ายซ้ายต่าง ๆ ตลอดจนการประท้วงของกรรมกรผู้ใช้แรงงานและชาวนาอยู่เนือง ๆ ร่วมกับความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง กลุ่มฝ่ายขวาต่าง ๆ ซึ่งรู้สึกกังวลกับชัยชนะของคอมมิวนิสต์ในประเทศเพื่อนบ้าน ใช้วิธีการก่อกวนขบวนการฝ่ายซ้ายจนมีผู้เสียชีวิตอยู่หลายโอกาส ขณะเดียวกัน มีฝ่ายกองทัพอย่างน้อยสองฝ่ายพยายามวางแผนให้เกิดการรัฐประหารอีกครั้ง

โดยฝ่ายหนึ่งใช้วิธีการนำตัว "สามทรราช" กลับประเทศไทยเพื่อหวังให้เกิดสถานการณ์บานปลาย โดยวันที่ 19 กันยายน 2519 จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางกลับประเทศ และบวชเป็นภิกษุที่วัดบวรนิเวศวิหาร นักศึกษาปักหลักประท้วงที่สนามหลวงและย้ายไปบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน

ต่อมาในวันที่ 4 ตุลาคม 2519 นักศึกษาจัดการแสดงล้อเหตุฆ่าคนงานฝ่ายซ้ายที่จังหวัดนครปฐม วันที่ 5 ตุลาคม มีการตีพิมพ์ข่าวการแสดงดังกล่าว โดยมีสื่อฝ่ายขวาลงว่าบุคคลที่ถูกแขวนคอนั้นมีใบหน้าเหมือนสมาชิกราชวงศ์ เป็นผลให้กำลังกึ่งทหารที่โกรธแค้นมาชุมนุมกันนอกมหาวิทยาลัยในเย็นนั้น ท่ามกลางสื่อฝ่ายขวาที่โหมปลุกความเกลียดชังอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ มีผู้ประท้วงอยู่ในมหาวิทยาลัยราว 4,000 คน และมีตำรวจและประชาชนฝ่ายขวามาล้อมไว้ราว 8,000 คน

เหตุการณ์ล้อมมหาวิทยาลัยล่วงเลยมาถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ตำรวจปิดทางเข้าออกมหาวิทยาลัยไว้ทุกด้านตั้งแต่เช้าตรู่ ระหว่างเวลา 5.30–11.00 น. จากนั้นก็เปิดฉากใช้อาวุธสงครามหลายชนิดทั้งปืน เครื่องยิงลูกระเบิด ปืนต่อสู้รถถังและระเบิดมือเข้าปราบปรามผู้ประท้วง พลตำรวจโท ชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดีกรมตำรวจ อนุญาตให้ยิงเสรี เกิดการยิงปะทะระหว่างสองฝ่ายช่วงสั้น ๆ ก่อนผู้ประท้วงเป็นฝ่ายแพ้อย่างรวดเร็ว นับเป็นการใช้กำลังเกินกว่าเหตุและขาดความชอบธรรม นิตยสาร ไทม์ เรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า "ฝันร้ายของการลงประชาทัณฑ์และการเผา"

นักศึกษาที่ยอมจำนนแล้วและที่กำลังหลบหนีกระสุนถูกทำร้ายร่างกาย ปล้นชิงทรัพย์สิน ล่วงละเมิดทางเพศ ถูกยิง เผา และทุบตี ส่วนศพถูกทำลายและเผา ผู้ประท้วง 3,094 คนถูกจับ คณะผู้ยึดอำนาจการปกครองที่มีพลเรือเอก สงัด ชลออยู่เป็นหัวหน้าคณะ ประกาศควบคุมสถานการณ์ในเวลา 18.00 น. 

เหตุการณ์ 6 ตุลาและการรัฐประหาร เป็นจุดสิ้นสุดของ "ยุคการทดลองประชาธิปไตย" ซึ่งมีอายุไม่ถึงสามปี และกระแสสังคมนิยมเสื่อมลง มีการตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีนายธานินทร์ กรัยวิเชียรเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลมีความคิดขวาจัดและเกิดการกวาดล้างฝ่ายซ้ายอย่างรุนแรงทำให้บางส่วนหนีไปเข้ากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ทำให้การก่อการกำเริบรุนแรงยิ่งขึ้น แกนนำผู้ประท้วง 19 คนถูกฟ้องฐานพยายามก่อจลาจล แต่สุดท้ายรัฐบาลนิรโทษกรรมในปี 2521 รัฐบาลใช้วิธีการปล่อยให้สังคมลืมเหตุการณ์เลวร้ายครั้งนั้น เพื่อความสมานฉันท์ของบ้านเมือง

หนังสือเรียนประวัติศาสตร์สมัยใหม่ในประเทศไทยแทบทั้งหมดข้ามเหตุการณ์นี้ไปเสียเฉย ๆ มีความพยายามตีแผ่ข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และโครงการบันทึก 6 ตุลา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงานรำลึกเป็นประจำทุกปี และมีการสร้างประติมากรรมอนุสรณ์ 6 ตุลาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2539 โดยแผนจัดสร้างมีตั้งแต่ปี 2539 แต่ปัญหาด้านการขาดงบสนับสนุนจากภาครัฐทำให้เกิดความล่าช้า กระทั่งการเสียชีวิตของดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในปี 2542 ทำให้มีการรวบรวมเงินอุปถัมภ์บริจาค จนสามารถสร้างประติมานุสรณ์แล้วเสร็จในปีถัดมา

นับแต่นั้น ในงานรำลึกครบรอบเหตุการณ์ 6 ตุลา ประติมานุสรณ์ก็เป็นพื้นที่หลักสำหรับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาบำเพ็ญกุศลและรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้นตลอดมา

ประติมานุสรณ์ 6 ตุลาฯ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

“งานครบรอบ 47 ปี 6 ตุลาฯ 2519 ” ประจำปี 2566

สำหรับ “งานครบรอบ 47 ปี 6 ตุลาฯ 2519 ” ประจำปี 2566 จะจัดขึ้นในวันนี้ (ศุกร์ที่ 6 ตุลาคม 2566) ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ บริเวณสวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ “ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย”

กิจกรรมในช่วงเช้า ตั้งแต่เวลา 07.30 น. เป็นต้นไป จะมีพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 19รูป วางพวงมาลา ดอกไม้ และกล่าวไว้อาลัยแด่วีรชนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ นำโดย รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จากนั้นในเวลา 09.00 น. จะมีปาฐกถารำลึกเหตุการณ์ “6 ตุลาฯ 2519” ในหัวข้อ “แด่ทุกต้นกล้าความฝัน: ตื่นจากฝันร้ายของอำนาจนิยมและทุนผูกขาดสู่รัฐสวัสดิการ”โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประชาชนที่สนใจสามารถเข้าร่วมรับฟัง ด้วยแนวคิดที่ว่า ประวัติศาสตร์ คือบทเรียนสำคัญของปัจจุบัน และจะเป็นผู้ชี้นำไปสู่การออกแบบอนาคต