วันที่ 6 ตุลาคม 2566 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี โดยมี นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการกองทุนฯเข้าร่วม ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า จากเหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้า ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน 1 ราย ชาวเมียนมา 1 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย โดยต้องยอมรับเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และภาพลักษณ์ของประเทศ ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีความมุ่งมั่นในการดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ ถ้าเราไม่เร่งทำความเข้าใจ และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบเยียวยาผู้เสียชีวิต จำนวน 2 ราย รายละ 1 ล้านบาท ส่วนกรณีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส รายละ 2 แสนบาท บาดเจ็บเล็กน้อย รายละ 1 แสนบาท โดยการพิจารณาได้เทียบเคียงกับเหตุการณ์ใกล้เคียงในอดีตที่ได้อนุมัติเยียวยาแล้ว
เช่น เหตุกราดยิงจังหวัดนครราชสีมา เหตุร้ายแรงในจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งหลังคณะกรรมการฯมีมติ ก็พร้อมที่จะจ่ายเงินทันที แต่ต้องรอ กทม.ในฐานะเป็นผู้สรุปเหตุการณ์ส่งเอกสารสรุปรายละเอียดมาให้ก่อน โดยเงินช่วยเหลือของกองทุนนี้ ขอยืนยันว่า ไม่เกี่ยวกับเงินเยียวยาของหน่วยงานอื่น เพราะเป็นเงินบริจาคของประชาชน
ส่วนเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลให้รัฐบาล ต้องเร่งช่วยเหลือ คณะกรรมการฯ มีมติช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยในจังหวัดสุโขทัย จำนวน 9 อำเภอ 67 ตำบล 383 หมู่บ้าน 4,322 ครัวเรือน ซึ่งมีค่าอาหารจัดเลี้ยง วันละไม่เกิน 3 มื้อ มื้อละไม่เกิน 50 บาทต่อคน
พร้อมมอบถุงยังชีพ จำนวน 2,000 ชุด เป็นเงินกว่า 1.4 ล้านบาท ส่วนที่จังหวัดร้อยเอ็ด มีประชาชน ได้รับผลกระทบแล้ว 11 อำเภอ 5,980 ครัวเรือน มีมติช่วยเหลือ ค่าอาหารจัดเลี้ยง วันละไม่เกิน 3 มื้อ มื้อละไม่เกิน 50 บาทต่อคน พร้อมมอบถุงยังชีพ จำนวน 1,000 ชุด เป็นเงินกว่า 7 แสนบาท ส่วนภายหลังน้ำลด จะเร่งสำรวจความเสียหายของบ้านเรือน เพื่อเร่งช่วยเหลือเยียวยาต่อไป
คณะกรรมการฯ ยังมีมติช่วยเหลือ ผู้เสียชีวิตจากเหตุอุทกภัยรวม 6 ราย ในจังหวัดสุโขทัย 5 ราย และ จังหวัดยโสธร 1 ราย โดยมีค่าจัดการศพ รายละ 5 หมื่นบาท เงินทุนเลี้ยงชีพแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต 3 หมื่นบาท ส่วนบ้านประชาชน ที่เสียหายจากน้ำท่วม เราได้มีเกณฑ์ช่วยเหลือเยียวยาคือ ค่าซ่อมแซมบ้าน เสียหายเกิน 70% ไม่เกินหลังละ 220,000 บาท เสียหาย 30-70% ไม่เกินหลังละ 70,000 บาท และเสียหายน้อยกว่า 30% ไม่เกินหลังละ 15,000 บาท
ถ้ามีประชาชน เสียชีวิตเพิ่มอีก คณะกรรมการฯจะเร่งพิจารณาอย่างเร่งด่วน ส่วนหลังน้ำลด ก็จะเร่งสำรวจความเสียหายจากบ้านเรือน นอกจากนี้ ผมได้เน้นย้ำในที่ประชุมว่า หากมีเหตุฉุกเฉินเพิ่มเติม ต้องเตรียมพร้อมที่จะประชุมด่วนด้วย เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยบางครั้งอาจต้องประชุมแบบออนไลน์ เพื่อความรวดเร็ว และให้ทันต่อความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว