"จักรพงษ์"แจงสภา เร่งประสานทูตต่างชาติ ขอปล่อย 16 ตัวประกันคนไทย

12 ต.ค. 2566 | 07:08 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ต.ค. 2566 | 07:29 น.

"จักรพงษ์" แจงกระทู้สดในสภา นายกฯ สั่งเร่งอพยพคนไทยในอิสราเอล ขณะที่กระทรวงต่างประเทศ ประสานทูตต่างชาติในไทยที่ความสัมพันธ์กับปาเลสไตน์ -องค์กรนานาชาติ เจรจาปล่อย 16 ตัวประกันคนไทย

วันที่ 12 ตุลาคม 2566   นายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.การต่างประเทศ ตอบกระทู้ถามสดต่อที่ประชุมสภาฯ ในประเด็นผลกระทบต่อแรงงานไทยในประเทศอิสราเอลที่มีสถานการณ์สู้รบ ว่าสถานการณ์ล่าสุด มีคนไทยที่เสียชีวิต รวม 21 คน  ซึ่งเป็นรายงานจากนายจ้าง ไม่ใช่คำยืนยันอย่างเป็นทางการจากประเทศอิสราเอล 

ทั้งนี้อิสราเอลขอเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อยืนยันตัวตนผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้อิสราเอลจะเยียวยาจากเหยื่อสงคราม ขณะที่ผู้บาดเจ็บ ที่มี 14 คน เอกอัครราชทูตได้เข้าเยี่ยมแล้ว สำหรับผู้ที่บาดเจ็บเล็กน้อยจะถูกส่งตัวกลับไทย โดยจะมาถึงประเทศไทยในวันนี้ (12 ต.ค.)

 สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงคราม จะได้รับการเยียวยาตามกฎหมาย เช่น เงินสงเคราะห์ 15,000 บาท กรณีพิการ 15,000 บาท กรณีทุพพลภาพ 30,000 บาท ค่าจัดงานศพในต่างประเทศเท่าที่จ่ายจริงหรือไม่เกิน 40,000 บาทเป็นต้น  นอกจากนั้นยังมีการเยียวยาทางจิตใจของครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบและสูญเสีย

นายจักรพงษ์ ชี้แจงว่า เมื่อคืน วันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี  สั่งการมาที่ กระทรวงการต่างประเทศเพื่อหาช่องทางอพยพคนไทยออกมาจากพื้นที่ให้มากที่สุด ทั้งทางอากาศ น้ำ  และทางบก แต่ภาวะสู้รบที่มีต่อเนื่องทำให้เป็นไปได้ยาก

สำหรับคนไทยที่ถูกลักพาตัวหรือจับเป็นตัวประกันมีทั้งสิ้น 16 คน โดยกระทรวงการต่างประเทศใช้ความพยายามเต็มที่สื่อสารไปยังกลุ่มฮามาส จับกุมคนไทยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง แต่ปาเลสไตน์ไม่มีทูตประจำประเทศไทย

ดังนั้นกระทรวงการต่างประเทศได้ประสานทูตต่างชาติที่ประจำในไทยซึ่งมีความสัมพันธ์กับปาเลสไตน์ รวมถึงกลไกอาเซียนเพื่อให้ปล่อยตัว รวมถึงองค์กรนานาชาติ เช่น หน่วยงานที่เกี่ยวกับมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ ให้ช่วยเหลือด้วย ทั้งนี้พบว่ามีคนไทยที่ได้รับผลกระทบประมาณ 5,000 คนจาก คนไทยในอิสราเอล 30,000 คน

ส่วนกระทู้ถามของ นายสหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี พรรคก้าวไกล ที่ระบุว่าได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ประสบภัยในประเทศอิสราเอลที่ต้องการอพยพออกจากพื้นที่ คาดว่าจะเพิ่มเป็น 7,000 คน เกี่ยวกับมาตรการเชิงรุกของรัฐบาลไทย การจัดพื้นที่พักคอยที่ปลอดภัยเพื่อรอการอพยพ รวมถึงการเยียวยาผู้เสียหายและแรงงานที่ถูกเอาเปรียบจากนายจ้าง นั้น

รมช.ต่างประเทศ ชี้แจงว่า การพูดคุยโทรศัพท์ตามที่อ้างว่าได้คุยกับแรงงาน ตนไม่ต่างกัน เพราะได้คุยกับเอกอัครราชทูตที่ดูแลพื้นที่ พบว่ามีการสู้รบต่อเนื่อง ตนห่วงคนไทยทุกคน รวมถึงข้าราชการไทยในสถานการณ์สู้รบ ที่ต้องยอมรับว่ามีข้อจำกัดในพื้นที่  การขับรถต้องขออนุญาตจากอิสราเอล เพราะเคยมีกรณีที่ไม่ได้ขออนุญาตทำให้เกิดความเข้าใจผิดมาแล้ว

สำหรับประเด็นที่แรงงานถูกเอาเปรียบได้หารือกับกระทรวงแรงงานเพื่อดูแลและแก้ปัญหา ทั้งนี้แรงงานในทั่วประเทศ 30,000 คน ได้ติดต่อเช่นกัน แต่แรงงานไม่พบว่าตนเองอยู่ในพื้นที่ไหน เนื่องจากถูกอพยพออกจากพื้นที่ สถานทูตไทยประจำอิสราเอล ใช้ทุกอย่างที่มีอยู่ ด้วยเจ้าหน้าที่ที่จำกัดได้ส่งเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมเพื่อดูแลเหตุการณ์โดยรอบ สำหรับแรงงานคนไทยที่มี 30,000 คนอยู่ที่อิสราเอล ซึ่งในพื้นที่มีศูนย์อาร์ซี รับเรื่องร้องเรียนไว้และติดต่อไปยังแรงงานทุกคน

 กระทรวงการต่างประเทศได้หารือกับหลายประเทศที่อยู่รอบด้านอิสราเอล แต่ขณะนี้พบว่าการเดินทางไปชายแดนประเทศต่างๆ มีความเสี่ยง แม้ทูตจะประสานอิสราเอลเพื่อขอรถเพื่อเคลื่อนย้าย แต่พบความเสี่ยงเช่นกันเนื่องจากสถานการณ์สู้รบ ยิงจรวดเข้าพื้นที่อย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ทั้งนี้ในพื้นที่เสี่ยงสูง อิสราเอลจะเป็นผู้ดำเนินการให้ออกมาจากพื้นที่เสี่ยงไปยังพื้นที่ปลอดภัย ทางการไทยได้สั่งการให้ตั้งศูนย์อพยพตั้งแต่วันแรกของเหตุการณ์ แต่ยังไม่สามารถทำได้ เพราะมีอุปสรรคต่อการบริหารจัดการในพื้นที่และข้อจำกัด