ในวันจันทร์ที่ 16 ต.ค. 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เพื่อพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) จนถึง ผู้บัญชาการ (ผบช.) โดย บิ๊กต่อ-พล.ต.อ.ศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จะเป็นผู้เสนอบัญชีผู้ที่เหมาะสมเข้าที่ประชุม ก.ตร.
การแต่งตั้ง “นายพลตำรวจ” ครั้งนี้ ผบ.ตร. แยกพิจารณาการแต่งตั้งเป็น 2 ช่วง คือ ระดับ รอง ผบ.ตร. จนถึง ผบช. และ ระดับ รอง ผบช. ถึง ผู้บังคับการ (ผบก.) ทั่วประเทศ เพื่อให้ ผบช. ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิจารณารายชื่อ รอง ผบช. และ ผบก. เสนอเข้ามาที่ ผบ.ตร. ก่อนนำเสนอผ่านการกลั่นกรองของบอร์ด ระดับ บช. เสนอเข้าที่ประชุม ก.ตร.
สำหรับวาระการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ประจำปี 2566 มีตำแหน่งว่าง ดังนี้ รอง ผบ.ตร. ว่าง 3 ตำแหน่ง, ผู้ช่วย ผบ.ตร.ว่าง 5 ตำแหน่ง., ผบช. ว่าง 16 ตำแหน่ง, รอง ผบช.ว่าง 51 ตำแหน่ง และ ผบก. ว่าง 78 ตำแหน่ง รวมทั้งหมด 153 ตำแหน่ง
ทั้งนี้ ระดับ รอง ผบ.ตร. 3 ตำแหน่ง เป็นการพิจารณาจาก ผู้ช่วย ผบ.ตร. เรียงตามลำดับอาวุโส ดังนี้
1.พล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรง
2. พล.ต.ท.สราวุธ การพานิช
และ 3.พล.ต.ท.ธนา ชูวงศ์
ส่วนคนที่จะขึ้นระดับ ผู้ช่วย ผบ.ตร. 5 ตำแหน่ง พิจารณาเรียงตามลำดับอาวุโส ดังนี้
1.พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ นายแพทย์ใหญ่ (สบ 8) รพ.ตำรวจ,
2.พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจะพันธ์ ผบช.สตม.,
3.พล.ต.ท.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ ผบช.ภ.7,
4.พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผบช.ภ.6 นอก ,
5.พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผบช.สพฐ.ตร.
นอกจากนั้นยังมีคนที่อยู่ในค่ายลุ้นขึ้น ผู้ช่วย ผบ.ตร. ได้แก่ 6.พล.ต.ท.ณพวัฒน์ อารยางกูร จตร., 7.พล.ต.ท.อภิชาติ เพชรประสิทธิ์ ผบช.ส., 8.พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.กมค.
นับจากที่ ก.ตร. มีมติแต่งตั้ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เป็น ผบ.ตร.คนที่ 14 เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2566 ต่อมา 30 ก.ย. 2566 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566
การแต่งตั้ง “นายพลตำรวจ” รอบนี้ จึงเป็นครั้งแรก ที่ “บิ๊กต่อ” จะได้จัดทัพ วางตัวนายตำรวจเพื่อเป็นมือไม้ในการบริหารราชการตำรวจ ให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้มอบหมาย
ว่ากันว่า การแต่งตั้ง “รอง ผบ.ตร.-ผช.ผบ.ตร.” รอบนี้ จะมีผลไปถึงเก้าอี้ “ผบ.ตร.คนที่ 15” และ “ผบ.ตร.คนที่ 16” ด้วยทีเดียว
เพราะในระนาบ รอง ผบ.ตร. ปัจจุบัน นั้น “รองรอย” พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ เกษียณอายุราชการปี 2567 พร้อมกับบิ๊กต่อ แต่ “รองโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล เกษียณปี 2574 “รองต่าย” พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ เกษียณปี 2569
แต่นายตำรวจยศ พล.ต.ท. ในระดับ ผช.ผบ.ตร. ที่จ่อคิวขยับขึ้นเป็น รอง ผบ.ตร. นั้น บางคนอายุราชการยาวไปถึงปี 2569 บางคนอายุยาวไปถึงปี 2571 บางคนยาวไปถึงปี 2576
แม้ว่าในข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.ตำรวจ พ.ศ.2565 จะเขียนไว้ให้การคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งให้คำนึงถึงอาวุโส และความรู้ความสามารถประกอบกัน โดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวน หรือ งานป้องกันปราบปราม เสนอ ก.ตร. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกฯ นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
แต่ทว่าการแต่งตั้ง “ผบ.ตร.-รอง ผบ.ตร.-ผู้ช่วย ผบ.ตร.” ไม่เคยมีการทำตามหลักเกณธ์ เพราะ ก.ตร. ต้องพิจารณาหลายองค์ประกอบ
ดังเช่นในรอบปี 2565 ผู้ช่วย ผบ.ตร. อาวุโสลำดับที่ 4 พล.ต.ท.สุรเชษฐ หักพาล, อาวุโสลำดับ 8 พล.ต.ท.กิตต์รัฐ พันธ์เพชร, อาวุโสลำดับ 10 พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ขึ้นเป็น รองผบ.ตร. แซงหน้า อาวุโสอันดับ 2-3 “ไกรบุญ ทรวดทรง-สราวุฒิ การพานิช” ที่ปัจจุบันยังเป็น ผู้ช่วย ผบ.ตร.
การแต่งตั้ง รอง ผบ.ตร. ในปี 2566 นี้ จึงต้องจับตามองเป็นพิเศษ แม้จะมี 3 คน ที่จะขึ้น รอง ผบ.ตร. 2 คน เพื่อกินอัตรา พล.ต.อ. ในตำแหน่ง จเรตำรวจแห่งชาติ 1 คน ดังนั้น ไม่จำดักวงแค่ “ไกรบุญ ทรวดทรง-สราวุฒิ การพานิช” ที่เกษียณปี 2567
แต่ให้จับตาไปยัง “ผช.ผบ.ตร.ตัวตึง” ในอนาคต ที่อาจเบียดขึ้นเป็น ผบ.ตร. ได้เลย นั่นคือ “พล.ต.ท.ธนา ชูวงศ์ - พล.ต.ท.นิรันดร์ เหลื่อมศรี-พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร - พล.ต.ท.สำราณ นวลมา”
เพราะหากลองพิจารณาจากอายุราชการของ รอง ผบ.ตร. ยุคปัจจุบัน ที่ตัด “บิ๊กรอย” ออกจากสารบบ เพราะเกษียณปี 2567 พร้อม “บิ๊กต่อ” ได้ พล.ต.อ.กิตต์รัฐ เกษียณอายุราชการปี 2569 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เกษียณในปี 2574
แต่ถ้าแต่งตั้ง 5 ผู้ช่วย ผบ.ตร. ที่เป็นตัวตึง มีผลงานและมีแบ็กดี 5 คน นี้มา รับรองว่าตำแหน่ง ผบ.ตร.คนที่ 15 และ คนที่ 16 แปรเปลี่ยนไปจาก “ตัวเต็ง” ทันที
พล.ต.ท.ธนา ชูวงษ์ อายุราชการยาวไปถึงปี 2569 เท่ากับ “บิ๊กต่าย”
พล.ต.ท.นิรันดร เหลื่อมศรี อายุราชการยาวนานไปถึงปี 2571
พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง อายุราชการยาวไปถึงปี 2569
พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร อายุราชการยาวนานไปถึงปี 2570
พล.ต.ท.สำราณ นวลมา อายุราชการยาวนานกว่า “บิ๊กโจ๊ก” เกษียณราชการยาวไปถึงปี 2576
เรียกว่าใครขึ้น รอง ผบ.ตร. รอบนี้ มีโอกาสชิงเก้าอี้ ผบ.ตร. คนที่ 15 ต่อคิวจาก “บิ๊อต่อ” และมีโอกาสเข้าชิงเก้าอี้ ผบ.ตร. คนที่ 16 ได้เลย
ชนิดที่อาจทำให้ “2 รอง ผบ. ตร.” ทั้ง “บิ๊กต่าย-บิ๊กโจ๊ก” หนาวได้ทีเดียว...