รายงานพิเศษ : ซื้อใจข้าราชการ-แรงงาน อัพเงินเดือน-ค่าจ้าง

08 พ.ย. 2566 | 04:34 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ย. 2566 | 05:09 น.

ลุ้น “รัฐบาลเศรษฐา” ซื้อใจ ขึ้นเงินเดือนข้าราชการใหม่ หลังรอคอยมาร่วม 9 ปี นับแต่ยุค “รัฐบาลประยุทธ์ 1” เมื่อ ธ.ค.2557 ขณะที่ “แรงงาน” จับตาจะได้ขึ้น “ค่าแรงขั้นตํ่า” เท่าไหร่เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2567

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2566 นายธวัชชัย จันทร์ไพศาลสิน ที่ปรึกษาประจําสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด แจ้ง ประธาน ก.พ., รัฐ-กค., รง., ผอ.สงป., เลขา-ก.พ., สศช. เพื่อให้เร่งปฏิบัติกรณีมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เสนอ

ด้วยในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2566 นายกรัฐมนตรีเสนอว่า ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาไว้ว่า รัฐบาลมีนโยบายในการสร้างรายได้ สร้างชีวิตของคนไทยให้มีเกียรติ มีเงินเดือนและค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรมสอดคล้องและเพียงพอต่อปัจจัยด้านการ ดํารงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีนั้น

จึงขอมอบหมาย ดังนี้ 1. ให้กระทรวงแรงงานเร่งรัดการศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ในการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ และรายงานผลให้ ครม.ทราบโดยเร็ว

2. ให้รองนายกรัฐมนตรี (ปานปรีย์ พหิทธานุกร) ในฐานะประธานกรรมการข้าราชการพลเรือน รับไปเร่งรัดให้สํานักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ร่วมกับ กระทรวงการคลัง สํานักงบประมาณ สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาความเหมาะสม และเป็นไปได้ แนวทาง กรอบระยะเวลา และผลกระทบของการปรับอัตราเงินเดือนสําหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือน และเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ชัดเจน และรายงานผลให้ ครม.ทราบโดยเร็วภายในเดือน พ.ย.2566

“เศรษฐา”ลั่นขึ้นเงิน ขรก.

สำหรับเรื่องการ “ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ” นั้น เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดเผยที่ทำเนียบรัฐบาลว่า “มีแผนอยู่ที่จะปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ แต่ว่าต้องดูช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม ต้องดูความพร้อมทั้งหมดอีกที เมื่อมีความพร้อมเมื่อไหร่จะแถลงให้ทราบอีกครั้ง”

มาล่าสุด เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ตอบคำถามถึงเรื่องปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการว่า “เรื่องนี้ไม่ได้บอกจะขึ้นเงินเดือน แต่สั่งให้มีการศึกษา ซึ่งการศึกษาไม่ได้หมายความว่าจะขึ้นทันที”

ด้าน นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ ในฐานะประธาน ก.พ. กล่าวว่า ได้แจ้ง 4 หน่วยงาน ทั้งกระทรวงการคลัง, สศช. ก.พ., และ สำนักงบประมาณ เพื่อหารือกันในวันที่ 10 พ.ย.นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล

“ได้รับทราบจากนายกฯ แล้ว และจะขอให้ประชุมลักษณะนี้ 2 ครั้ง เพื่อเสนอ ครม. ภายในเดือนนี้ ตามคำสั่งนายกฯ”

เมื่อถามว่าจะมีการขยับขึ้นเหมือนตอนสมัย รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปรับขั้นเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาทหรือไม่ นายปานปรีย์ กล่าวว่า มีการดูจากฐานข้อมูลเดิมด้วย โดยดูจำนวนและกลุ่มบัญชีที่ปรับขึ้น แต่การปรับขึ้นเงินเดือนของรัฐบาลนี้ จะเป็นไปตามที่พรรคหาเสียงไว้ คือ เงินเดือนขั้นต่ำปริญญาตรี 25,0000 บาท แต่จะต้องใช้เวลาในการขยับขึ้น

                             รายงานพิเศษ : ซื้อใจข้าราชการ-แรงงาน อัพเงินเดือน-ค่าจ้าง

“ประยุทธ์” ขึ้นเงินขรก.10% 

เรื่องการ “ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ” ครั้งล่าสุด ที่มีการปรับขึ้นเป็นในช่วงของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

โดยเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชบัญญัติ 4 ฉบับ ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ให้ปรับเพิ่มเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการชั้นผู้น้อยทุกประเภทตั้งแต่ระดับ 1-7 ในอัตราร้อยละ 4 ของเงินเดือนที่ได้รับอยู่ปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน ยังปรับโครงสร้างบัญชีเงินเดือนข้าราชการทุกประเภททุกระดับเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ 10 โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่ วันที่ 1 ธ.ค. 2557

การปรับขึ้นเงินเดือนครั้งนั้นมีข้าราชการและพนักงานราชการทุกประเภทได้ประโยชน์ 1.98 ล้านคน ใช้งบปีละ 22,900 ล้านบาท

9 ปีไม่ได้ขึ้นเงินเดือน

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง เปิดเผยวันที่ 7 พ.ย.66 ว่า หากมีการปรับเพิ่มขึ้นเงินเดือนข้าราชการ กรมบัญชีกลาง ก็พร้อมดำเนินตามนโยบายของรัฐบาล

สำหรับเรื่องของการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการนั้น ก่อนหน้านี้เคยมีแนวคิดมาโดยตลอด แต่ไม่ได้รับการพิจารณา ทำให้ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา ข้าราชการทุกระดับชั้น ไม่มีการปรับขึ้นเงินเดือนเลย

“ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการศึกษาการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการไว้หลายแนวทาง แต่ไม่เคยได้ทำ ซึ่งอาจจะมีการเอาแนวทางดังกล่าวกลับมาพิจารณา ว่าควรจะเป็นรูปแบบใด เช่น ควรปรับขึ้นเป็นขั้นบันได หรือสามารถทำอย่างไรได้บ้าง เป็นต้น” รมช.คลัง กล่าว

นับตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2557 ยุค “รัฐบาลประยุทธ์” มาถึงเดือน พ.ย. 2566 ก็เป็นเวลาล่วงเลยมาแล้วร่วม 9 ปี ที่ยังไม่เคยมีการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบอีกเลย

มายุค “รัฐบาลเศรษฐา” ซึ่งมีนโยบายปรับขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการด้วยนั้น รอลุ้นกันว่า จะมีการปรับขึ้นให้เท่าไหร่ และ มีผลเมื่อใด 

 

ลุ้นขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของขวัญปีใหม่ 2567

สำหรับเรื่องการขึ้น “ค่าแรงขั้นต่ำ” ก่อนหน้านั้น ในการประชุมรัฐสภา เพื่อแถลงนโยบาย ครม. เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2599 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้เคยชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ว่า รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น การท่องเที่ยว เพื่อดึงเงินเข้าภาคบริการ ทำให้ “ค่าแรง” จะถูกปรับขึ้นตามความต้องการของแรงงาน

นอกจากกระตุ้นเศรษฐกิจภาคบริการ เราจะลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และโลจิสติกส์ หลังแถลงนโยบายจะเดินหน้าโดยเร่งด่วน รัฐบาลมีเป้าหมายจะปรับ “ค่าแรงขั้นต่ำ” ให้เหมาะสมพึงพอใจในการใช้จ่าย

“รัฐบาลจะจัดให้มีการเจรจา 3 ฝ่าย ระหว่างแรงงาน ผู้ว่าจ้าง และรัฐบาล เพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน โดยตั้งเป้าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท โดยเร็วที่สุด” นายกฯ ระบุ

ขณะเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2566 นายเศรษฐา ชี้แจงตอนหนึ่งในช่วงระหว่างการประชุมสัมมนาการมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ว่า รัฐบาลมั่นใจว่า ทิศทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จะทำให้เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำไปอยู่ที่ 400 บาทต่อวันได้โดยเร็วที่สุดเป็นสเต็ปแรก

“การดำเนินงานหลากหลายนโยบายของรัฐบาลนั้น จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และทำให้รัฐบาลสามารถปรับค่าแรงขั้นต่ำตามเศรษฐกิจได้ เป็น 600 บาทต่อวัน เงินเดือนผู้เรียนจบปริญญาตรี 25,000 บาท ได้ภายในปี 2570” นายกฯ ระบุ

ขณะที่ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ที่ต้องขับเคลื่อนการขึ้น “ค่าแรงขั้นต่ำ” นั้น ล่าสุด เมื่อ6 พ.ย. 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ออกมาระบุว่า คาดว่าในเดือน ธ.ค.จะสามารถประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับแรงงานทั่วประเทศ แต่คงไม่ถึงระดับ 400 บาทต่อวัน ตามที่นายกรัฐมนตรีได้เคยประกาศไว้ โดยการปรับขึ้นค่าจ้างรอบนี้แต่ละจังหวัดจะไม่เท่ากัน และสูงสุดอยู่ในหลักสิบบาท

ปัจจุบันจังหวัดที่มีอัตราค่าจ้างสูงที่สุดในประเทศอยู่ที่วันละ 354 บาท คือ จ.ระยอง ชลบุรี และ ภูเก็ต รองลงมาวันละ 353 บาท มี 6 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันแรงงานไทย (คสรท.) เห็นว่า ควรมีการปรับในอัตราค่าแรงที่ 492 บาท เท่ากันทั้งประเทศ เพราะจะช่วยให้ทุกจังหวัดมีเศรษฐกิจที่ดีเหมือนกัน

สำหรับการปรับขึ้น “ค่าแรงขั้นต่ำ” ของประเทศไทย เคยมีการปรับครั้งล่าสุด เมื่อปี 2565 ยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยปรับขึ้น 5.02% เป็นระหว่าง 328-354 บาท

ทั้งนี้ในการหาเสียงเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้เปิดตัว 10 นโยบายพลิกฟื้นประเทศ ซึ่ง 1 ในนั้นคือ นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้อง 600 บาท ภายในปี 2570

เรื่อง “ค่าแรงขั้นต่ำ” ก็ต้องมารอลุ้นกันว่า “รัฐบาลเศรษฐา” จะปรับขึ้นให้เป็นสูงสุดเท่าไหร่ และมีผลเมื่อไหร่... 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,938 วันที่ 9 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566