รายงานพิเศษ : 9 ปีที่รอคอยถึงเวลา“ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ”ใหม่

05 พ.ย. 2566 | 09:12 น.
อัปเดตล่าสุด :06 พ.ย. 2566 | 06:00 น.

“ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ”ใหม่ “รัฐบาลเศรษฐา” สั่งศึกษาชง ครม.ภายในเดือน พ.ย.นี้ ย้อนอดีตปรับเงินเดือนครั้งล่าสุด เกิดขึ้นยุค “รัฐบาลประยุทธ์ 1” เมื่อ 1 ธ.ค. 57 ล่วงเลยมาร่วม 9 ปีแล้ว

เมื่อวันที่ 2 พฤศกิกายน 2566 นายธวัชชัย จันทร์ไพศาลสิน ที่ปรึกษาประจําสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด เรื่อง การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ และ การปรับอัตราเงินเดือนสําหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเรียน รอง นรม. (นายปานปรีย์ พหิทธานุกร) ประธาน ก.พ., รัฐ-กค., รง., ผอ.สงป., เลขา-ก.พ., สศช.

ส่วนหนึ่งของหนังสือดังกล่าว ระบุว่า  ให้รองนายกรัฐมนตรี (นายปานปรีย์ พหิทธานุกร) ในฐานะประธานกรรมการข้าราชการพลเรือน รับไปเร่งรัดให้สํานักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ร่วมกับ กระทรวงการคลัง สํานักงบประมาณ สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาความเหมาะสม และเป็นไปได้ แนวทาง กรอบระยะเวลา และผลกระทบของการปรับอัตราเงินเดือนสําหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือน และเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ชัดเจน และรายงานผลให้คณะรัฐมนตรีทราบโดยเร็วภายในเดือนพฤศจิกายน 2566

สำหรับเรื่องการ “ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ” นั้น เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดเผยที่ทำเนียบรัฐบาลว่า

“มีแผนอยู่ที่จะปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ แต่ว่าต้องดูช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม  ต้องดูความพร้อมทั้งหมดอีกที เมื่อมีความพร้อมเมื่อไหร่จะแถลงให้ทราบอีกครั้ง”

เรื่องการ “ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ” ครั้งล่าสุด ที่มีการปรับขึ้นเป็นในช่วงของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

โดยเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชบัญญัติ 4 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558, พ.ร.บ.ระเบียบเงินเดือนเงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558, พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2558

สาระสำคัญคือให้ปรับเพิ่มเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของ ข้าราชการชั้นผู้น้อยทุกประเภทตั้งแต่ระดับ 1-7 ในอัตราร้อยละ 4 ของเงินเดือนที่ได้รับอยู่ปัจจุบัน 

ขณะเดียวกันยังปรับโครงสร้างบัญชีเงินเดือนข้าราชการทุกประเภททุกระดับเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ10 โดยให้มีผลทันทีหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้มีผลบังคับย้อนหลังไปตั้งแต่ วันที่ 1 ธ.ค. 2557

ก่อนหน้านั้น ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2557 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน มีการอนุมัติขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการและพนักงานราชการทุกประเภท ซึ่งเป็นไปตามที่ สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เสนอ 

โดยมีการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและพนักงานราชการทุกประเภท 1.98 ล้านคน ใช้งบ 22,900 ล้านบาท ปรับเพิ่มให้ 3 ขั้น หรือประมาณ 10% สำหรับบัญชีเงินเดือนแบบช่วง มีข้าราชการอีก 6 ประเภท ได้ขึ้นเงินเดือนเพิ่มเติมอีก 1 ขั้น หรือ 4% ส่วนกลุ่มข้าราชการที่อัตราเงินเดือนเต็มเพดานแล้ว ให้นำค่าตอบแทนพิเศษมารวมเป็นเงินเดือนได้ 

                                        รายงานพิเศษ : 9 ปีที่รอคอยถึงเวลา“ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ”ใหม่

ปัจจุบันเงินเดือนข้าราชการแต่ละตำแหน่งจะถูกแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ตั้งแต่ บริหาร, อำนวยการ, วิชาการ และทั่วไป และแต่ละประเภทจะแบ่งเป็น ลำดับขั้น ตั้งแต่ระดับชั่วคราว ไล่มาที่ขั้นต่ำ และ ขั้นสูง ซึ่งแต่ละประเภทจะมีฐานเงินเดือนที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ อัตราเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนสามัญปัจจุบัน เป็นดังนี้ 

อัตราเงินเดือนขั้นต่ำ-ขั้นสูงของข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งประเภทบริหาร

ขั้นต่ำชั่วคราว

ระดับต้น 24,400 บาท

ระดับสูง 29,980 บาท

ขั้นต่ำ

ระดับต้น 51,140 บาท

ระดับสูง 56,380 บาท

ขั้นสูง

ระดับต้น 74,320 บาท

ระดับสูง  76,800 บาท

อัตราเงินเดือนขั้นต่ำ-ขั้นสูง ของข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งประเภทอำนวยการ 
 

ขั้นต่ำชั่วคราว

ระดับต้น 19,860 บาท
ระดับสูง 24,400 บาท

ขั้นต่ำ

ระดับต้น  26,660 บาท

ระดับสูง  32,850 บาท

ขั้นสูง

ระดับต้น 59,500 บาท

ระดับสูง  70,360 บาท

อัตราเงินเดือนขั้นต่ำ-ขั้นสูง ของข้าราชการพลเรือนสามัญตำแหน่งประเภทวิชาการ 

ขั้นต่ำชั่วคราว

ระดับปฏิบัติการ  7,140 บาท

ระดับชำนาญการ 13,160 บาท

ระดับชำนาญการพิเศษ  19,860 บาท

ระดับเชี่ยวชาญ 24,400 บาท

ระดับทรงคุณวุฒิ 29,980 บาท

ขั้นต่ำ

ระดับปฏิบัติการ 8,340 บาท

ระดับชำนาญการ  15,050 บาท

ระดับชำนาญการพิเศษ  22,140 บาท

ระดับเชี่ยวชาญ 31,400 บาท

ระดับทรงคุณวุฒิ  43,810 บาท

ขั้นสูง

ระดับปฏิบัติการ 26,900 บาท

ระดับชำนาญการ 43,600 บาท

ระดับชำนาญการพิเศษ 58,390 บาท

ระดับเชี่ยวชาญ  69,040 บาท

ระดับทรงคุณวุฒิ 76,800 บาท
 

อัตราเงินเดือนขั้นต่ำ-ขั้นสูงของข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งประเภททั่วไป
 

ขั้นต่ำ

ระดับปฏิบัติงาน 4,870 บาท

ระดับชำนาญงาน 10,190 บาท

ระดับอาวุโส 15,410 บาท

ระดับทักษะพิเศษ 48,220 บาท

ขั้นสูง

ระดับปฏิบัติงาน 21,010 บาท

ระดับชำนาญงาน 38,750 บาท

ระดับอาวุโส 54,820 บาท

ระดับทักษะพิเศษ  69,040 บาท

นับตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2557 ยุค “รัฐบาลประยุทธ์” มาถึงเดือน พ.ย. 2566 ก็เป็นเวลาล่วงเลยมาแล้วร่วม 9 ปี ที่ยังไม่เคยมีการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบอีกเลย

 มารอลุ้นกันว่า ในยุค “รัฐบาลเศรษฐา” ซึ่งมีนโยบายปรับขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการด้วยนั้น จะมีการปรับขึ้นให้เท่าไหร่ และมีผลเมื่อใด

เชื่อว่า “ข้าราชการ” ทั้งหลาย กำลังรอคอยกันอยู่แน่นอน...