รายงานพิเศษ: “อลเวง”เงินดิจิทัลกู้ 5 แสนล้าน“อืด”ยังไม่ถึงมือกฤษฎีกา

22 พ.ย. 2566 | 02:09 น.

โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ให้กับประชาชน 50 ล้านคน วงเงิน 5 แสนล้านบาท สร้างความ“อลเวง” ขึ้นอีกครั้ง เมื่อ “กฤษฎีกา” ออกมาบอกว่ายังไม่ได้รับคำถามกรณีจะออก พ.ร.บกู้เงิน ว่าทำได้หรือไม่ จากกระทรวงการคลัง ก่อนไปถึงขั้นตอนยกร่างกฏหมาย

โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ให้กับประชาชน 50 ล้านคน 
การเดินหน้าโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ให้กับประชาชน 50 ล้านคน วงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เตรียมออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทนั้น  

ขณะนี้อยู่ระหว่างกระทรวงการคลัง กำลังร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ให้กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับที่...พ.ศ.... ก่อนที่จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาร่างกฎหมาย ก่อนจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และสภาฯ ตามขั้นตอน

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงความคืบหน้าการตรวจสอบร่าง พ.ร.บ.กู้เงินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยกฤษฎีกา ว่า ตอนนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาของกฤษฎีกา ตนขอเรียนว่า จริงๆ แล้ว กฤษฎีกาไม่ได้จะมาคัดค้าน หรือไม่เห็นด้วยอะไร แต่ก็อยากให้เราช่วยกันดูให้รอบคอบ รัฐบาลก็เห็นด้วยจึงส่งให้กฤษฎีกาช่วยดู ซึ่งยังอยู่ในกระบวน และคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน

“กู้เงิน”ยังไม่ถึงกฤษฎีกา

ถัดมา วันที่ 21 พ.ย. 2566 นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมครม. ว่า ตนได้พบกับ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง และได้ถามว่าจะมีหนังสือมาถึงกฤษฎีกาเมื่อไหร่ ได้คำตอบจากทางรัฐมนตรีว่า “กำลังดูอยู่”

นายปกรณ์ ยังอธิบายขั้นตอนเรื่องนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันว่า เมื่อคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ มีมติให้กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการ ถามมาที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หากพบเงื่อนไขจะสามารถกู้ได้หรือไม่เท่านั้น โดยมติมีเพียงแค่นั้น ยังไม่ได้ไปถึงขั้นตอนการยกร่างกฏหมาย 

ขอย้ำว่าเป็นการให้ถามคำถามเท่านั้น เมื่อส่งคำถามมาแล้วจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาตามปกติ โดยไม่มีการตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษแต่อย่างใด ทุกอย่างเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา ถ้าเข้าเงื่อนไขก็สามารถทำได้ ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขก็ทำไม่ได้ คำตอบมีเพียงเท่านั้น หากสามารถทำได้ก็จะเป็นการยกร่างกฎหมายอีกขั้นตอนหนึ่ง

โอดถูกด่าทำงานช้า

“ผมทวงถามจากรัฐมนตรีเรื่องนี้ เพราะผมถูกด่าว่าทำงานช้า ทั้งที่เรื่องยังไม่ส่งมาถึงผม ทางสภาพัฒน์ก็รอ เพราะนึกว่าเรื่องได้ส่งมาที่ผมแล้ว ทุกคนคิดแบบนี้ แต่ปรากฏว่านักข่าวรู้มากกว่าผมอีก” นายปกรณ์ กล่าว 

ผู้สื่อข่าวถามว่าสภาพัฒน์บอกว่าถ้าคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นมาว่า ถ้า ครม.ไปต่อทางนี้ไม่ได้อาจมีทางอื่นหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ไม่รู้ เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องคิด ไม่ใช่เรื่องของตน และคณะกรรมการกฤษฎีกาให้คำแนะนำไม่ได้ เพราะไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นนักกฎหมาย 

                          รายงานพิเศษ: “อลเวง”เงินดิจิทัลกู้ 5 แสนล้าน“อืด”ยังไม่ถึงมือกฤษฎีกา

นายปกรณ์ กล่าวว่า กฎหมายที่จะนำมาประกอบการพิจารณามีทั้งรัฐธรรมนูญ เรื่องการจ่ายเงินแผ่นดิน และยังมีกฏหมายหลายฉบับ เช่น กฎหมายงบประมาณ กฎหมายการเงินการคลัง กฎหมายหนี้สาธารณะ พ.ร.บ.เงินตรา รวมทั้งต้องดูอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีด้วย โดยเรื่องนี้ต้องดูตามข้อกฎหมายอย่างรอบคอบว่าทำได้หรือไม่ หากทำไม่ได้ก็บอกทำไม่ได้ เรื่องนี้ได้มีความซับซ้อนอะไร

เมื่อถามว่ารัฐบาลฝากความหวังไว้ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ถ้าวิธีออก พ.ร.บ.กู้เงิน ไม่ได้ จะใช้ช่องทางใดได้บ้าง นายปกรณ์ กล่าวว่า การจะเข้าเงื่อนไขหรือไม่ ต้องดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งตนไม่รู้ไม่สามารถตอบแทนได้ 

เมื่อถามย้ำว่าเลขาธิการนายกฯ อยากจะขอคำแนะนำจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าจะทำอย่างไรถึงจะเดินหน้าโครงการได้ นายปกรณ์ กล่าวว่า คำถามที่ว่าทำอย่างไรให้ทำได้ ไม่ควรมาถาม เพราะไม่ใช่คนกำหนดนโยบาย ก็ไม่ใช่หน้าที่ 

“ย้ำว่าเรื่องวิกฤตหรือไม่วิกฤตไม่ใช่หน้าที่ของกฤษฎีกา แต่เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่จะหาข้อมูลมาสนับสนุน ที่โต้เถียงกันก็ไม่รู้”

สำหรับคำถามที่ว่ารัฐบาลจะขอคำแนะนำจากกฤษฎีกาว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถออกกฎหมายในเรื่องนี้ได้ เลขาธิการฯกฤษฎีกา กล่าวว่า เรื่องนี้ตนเองไม่ทราบ เพราะว่าหน้าที่ในการหาวิธีการในการบริหาร และออกนโยบายนั้นเป็นเรื่องของรัฐบาล รวมทั้งเรื่องของการวินิจฉัยว่าเป็นเรื่องวิกฤติหรือไม่นั้นก็คงไม่สามารถมาถามจากกฤษฎีกาได้เป็นหน้าที่ของรัฐบาล และครม.ที่ต้องหาข้อมูลมาอธิบายในส่วนนี้

4 ด่านชี้ขาดพรบ.เงินกู้

สำหรับขั้นตอนของ “ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท” นั้น หากคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า ไม่สามารถออกเป็นร่าง พ.ร.บ.ได้ ก็จะเป็นภาระของรัฐบาลว่า จะหาทางออกเรื่องนี้อย่างไร  

แต่หากผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็จะเสนอเข้าสู่บอร์ดดิจิทัลอีกครั้ง ก่อนไปสู่การพิจารณาของ ครม. และ พรรคร่วมรัฐบาล

ด่านต่อไปจะเป็นการพิจารณาของ “รัฐสภา” ใน 3 วาระรวด ได้แก่วาระ 1 รับหลักการ วาระ2 ตั้งคณะกรรมาธิการ และ ลงมติเห็นชอบหรือไม่

และต้องไปลุ้นที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นด่านสุดท้าย ที่จะชี้เป็นชี้ตายว่า การออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อมา “แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต” จะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท หากผ่านด่าน “กฤษฎีกา” ได้ ก็ยังไม่แน่ว่าจะผ่านด่าน “ศาลรัฐธรรมนูญ” หรือไม่ นำมาซึ่งความ “อลเวง” ต่อนโยบายแจกเงินของรัฐบาล ที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้กับประชาชน ว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่... 

+++

ตั้งแท่น 5 คำร้องรอส่งตีความเงินดิจิทัล

นับตั้งแต่ “รัฐบาลเศรษฐา” ได้มีมติดำเนินโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ให้แก่บุคคลที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ขณะนี้ได้มีบุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว ได้ยื่นคำร้องผ่าน “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” เพื่อให้  พิจารณาส่งเรื่องพร้อมความเห็นไปยัง “ศาลรัฐธรรมนูญ” เพื่อให้วินิจฉัยแล้ว 5 คำร้อง ประกอบด้วย

วันที่ 28 เม.ย. 2566 นายสนธิญา สวัสดี ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีพรรคเพื่อไทยกำหนดนโยบายการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต จำนวน 10,000 บาท เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 258 ก. ด้านการเมือง (3) 

วันที่ 9 ต.ค.2566 นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ยื่นขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอศาลรัฐธรรมนูญ หรือ ศาลปกครอง กรณี ครม.กำหนดนโยบายแจกเงินดิจิทัลให้กับประชาชน มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

                            รายงานพิเศษ: “อลเวง”เงินดิจิทัลกู้ 5 แสนล้าน“อืด”ยังไม่ถึงมือกฤษฎีกา

ถัดมาวันที่ 18 ต.ค.2566 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี และคณะ ร้อง 2 ประเด็น คือ ขอให้ผู้ตรวจฯ พิจารณาตามมาตรา 22 (1) และ (2) พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 แสวงหาข้อเท็จจริงและเสนอแนะต่อนายกฯ และหน่วยงาน อื่นที่เกี่ยวข้อง กรณีดำเนินโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต อันมีลักษณะเป็นการสร้างความเสียหาย และสร้างภาระแก่งบประมาณประเทศ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อระบบการเงินการคลังของประเทศในระยะยาว

พร้อมขอให้ผู้ตรวจฯ เสนอความเห็นต่อศาลปกครอง ตามมาตรา 23 (2) พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 ขอให้ศาลปกครองวินิจฉัย กรณีนายกฯ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 164 (2) และพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 6 และมาตรา 9

และขอให้ศาลปกครองกำหนดมาตรการชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาให้ระงับโครงการดังกล่าวไว้ก่อน เพราะหากมีการแจกเงินดิจิทัลไปแล้วจะเกิดความเสียหายต่องบประมาณ และระบบการคลังของประเทศ 

วันที่ 25 ต.ค. 2566 มีผู้ร้องซึ่งไม่ระบุชื่อ ขอให้ผู้ตรวจฯ พิจารณาตามมาตรา 22 (1) และ (2) พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 แสวงหาข้อเท็จจริงและเสนอแนะต่อนายกฯ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง กรณีดำเนินการตามโครงการแจกเงินดิจิทัล มีลักษณะเป็นการสร้างความเสียหาย และสร้างภาระแก่งบประมาณประเทศ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อระบบการเงิน การคลังของประเทศในระยะยาว

และ วันที่ 13 พ.ย.2566 นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ยื่นต่อผู้ตรวจฯ ขอให้เสนอศาลรัฐธรรมนูญ กรณีรัฐบาลตรา พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 140 ประกอบพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2560 มาตรา 53 หรือไม่