โพลหนุน "มาดามเดียร์” นั่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

07 ธ.ค. 2566 | 02:08 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ธ.ค. 2566 | 04:57 น.

ผลการสำรวจของสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (Institute of Future Studies for Development: IFD) ชี้ว่า คนส่วนใหญ่ร้อยละ 71.56 มอง “มาดามเดียร์” เหมาะสมเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่ตำแหน่งเลขาธิการพรรค “ชัยชนะ” นำ “เดชอิศม์” ลอยลำ   

 

การสำรวจความคิดเห็นของประชาชน จัดทำโดย สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (Institute of Future Studies for Development: IFD) ร่วมกับสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เรื่อง “การเลือกตั้งผู้บริหารชุดใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์” ซึ่งสำรวจระหว่างวันที่ 1-4 ธันวาคม 2566 ในกลุ่มประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายใน 6 ภูมิภาค เพศ อายุ อาชีพ และระดับการศึกษาทั่วประเทศ รวมจำนวน 1,216 ตัวอย่าง พบว่า ประชาชน ร้อยละ 71.56 ให้ความเห็นว่าผู้ที่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค คือ นางสาว วทันยา บุนนาค (มาดามเดียร์)

ขณะที่นาย นราพัฒน์ แก้วทอง ได้เสียงสนับสนุนร้อยละ 28.44  ทั้งนี้ กลุ่มผู้ที่เห็นว่ามาดามเดียร์เหมาะสมเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั้น ร้อยละ 78.82 เป็นกลุ่มเพศทางเลือก และกลุ่มอายุที่ให้การสนับสนุนมากที่สุดเป็นคนในวัย 18-25 ปี (ร้อยละ 94.33) ขณะที่ผู้เห็นว่านายนราพัฒน์ เหมาะสมเป็นหัวหน้าพรรคนั้น ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 30.83 เป็นผู้ชาย และกลุ่มวัยที่สนับสนุนมากที่สุดคือ วัย 60 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 52.10)

โพลหนุน \"มาดามเดียร์” นั่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ส่วนผู้ท้าชิงหรือแคนดิเดตตำแหน่ง “เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์” พบว่า ประชาชน ร้อยละ 44.52 ให้ความเห็นว่าผู้ที่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค คือ นาย ชัยชนะ เดชเดโช  รองลงมาคือ นาย เดชอิศม์ ขาวทอง (ร้อยละ 25.79) และร้อยละ 29.69 ไม่มีความเห็น

โพลหนุน \"มาดามเดียร์” นั่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

เมื่อถามถึง “จุดเด่น/จุดแข็งของพรรคประชาธิปัตย์” ประชาชนที่ตอบคำถามการสำรวจ ให้คำตอบไว้ดังนี้   

  1. เป็นพรรคที่จัดตั้งขึ้นมายาวนาน มีความน่าเชื่อถือ อยู่คู่การเมืองไทย (ร้อยละ 65.58)
  2. มีสมาชิกพรรคจำนวนมากกระจายทั่วประเทศ (ร้อยละ 36.07)
  3. มีผู้บริหารพรรค กรรมการพรรค และคนดำเนินงานพรรคที่มีความรู้ความสามารถในการขับเคลื่อนและพัฒนาพรรค (ร้อยละ 25.29)
  4. เป็นพรรคที่อยู่ตรงกลาง ระหว่างอนุรักษ์นิยม (รวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ ฯลฯ) และเสรีนิยม (เพื่อไทย ก้าวไกล) ร้อยละ23.22
  5. เป็นสถาบันทางการเมืองที่มีการบริหารจัดการพรรคอย่างเป็นระบบ (ร้อยละ 22.64)
  6. ส.ส. เขตพื้นที่ ทำงานเต็มที่ โดนใจประชาชน (ร้อยละ14.90)
  7. เมื่อเป็นรัฐบาลทำได้ตามที่หาเสียง/พูดกับประชาชนไว้ (ร้อยละ 9.18)
  8. อื่น ๆ ได้แก่ มีประสบการณ์ทำงานการเมือง มีฐานเสียงที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของประชาธิปัตย์อย่างเหนียวแน่น เป็นที่ชื่นชอบของคนในบางพื้นที่ มีนักการเมืองที่เป็นนักพูดปราศรัยเก่งน่าติดตาม ฯลฯ

โพลหนุน \"มาดามเดียร์” นั่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ “สิ่งที่ประชาชนอยากให้พรรคประชาธิปัตย์ปรับเปลี่ยน” พบว่า ประชาชนอยากให้พรรคประชาธิปัตย์...   

  1. เปิดทางให้คนรุ่นใหม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานของพรรคได้มากขึ้น (ร้อยละ 33.75)
  2. ให้โอกาสคนรุ่นใหม่นำพรรค/มีอำนาจบริหารจัดการได้อย่างแท้จริง ไม่เป็นหุ่นเชิดของคนบางกลุ่ม (ร้อยละ 33.62)
  3. มีอุดมการณ์แสดงจุดยืนของพรรคที่ชัดเจน ให้ประชาชนเห็น/สัมผัส/สนใจ เพื่อเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่โดนใจ (ร้อยละ 27.19)
  4. ออกนโยบายใหม่ ๆ ที่ดีที่มีส่วนพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า (ร้อยละ 25.61)
  5. ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลก็ได้ เป็นฝ่ายค้านก็ได้ (ร้อยละ 15.24)
  6. ไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นแบบอย่างพรรคการเมืองสุจริต (ร้อยละ 14.81)
  7. ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศอย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำเพื่อพวกพ้องหรือเพื่อนายทุน (ร้อยละ 14.25)
  8. เปิดทางให้สมาชิกพรรคและประชาชนมีส่วนร่วมและฟังเสียงสมาชิกและประชาชนมากขึ้น (ร้อยละ 11.12)
  9. ทำการเมืองอย่างสร้างสรรค์ มุ่งใช้เหตุใช้ผล ไม่ใช้คำพูดรุนแรงส่อเสียดหรือวาทะเชือดเฉือน (ร้อยละ 10.88)
  10. มีความสามัคคี/ทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว (ร้อยละ 7.64)
  11. มีภาพลักษณ์ที่ทันสมัย เช่น ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วม ฯลฯ  (ร้อยละ 5.80)

และเมื่อถามว่า หากพรรคประชาธิปัตย์มีการปรับโฉมแล้ว มีโอกาสที่ท่านจะเลือกประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 72.05 ตอบว่าไม่แน่ใจ  ร้อยละ 15.36 เลือกอย่างแน่นอน และ 12.59 ไม่เลือกอย่างแน่นอน ตามลำดับ

สำหรับ กลุ่มตัวอย่าง ที่ตอบคำถามการสำรวจนั้น จำนวนรวม 1,216 คน มีลักษณะทางประชากรและภูมิภาค ดังนี้

เพศ ร้อยละ 48.60 เป็นเพศชาย  ร้อยละ 48.44 เป็นเพศหญิง  ร้อยละ 2.30 เป็นเพศทางเลือก

อายุ ร้อยละ 15.79 อายุ 18-25 ปี  ร้อยละ 20.89 อายุ 26-35 ปี  ร้อยละ 23.27 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 23.60 อายุ 46-59 ปี และ ร้อยละ 16.45 อายุ 60 ปีขึ้นไป

อาชีพ ร้อยละ 7.73 เป็นข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 17.68​ เป็นพนักงาน/ลูกจ้างเอกชน ร้อยละ 26.81 ประกอบธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย ร้อยละ 4.61 ช่วยธุรกิจ/งานครอบครัว ร้อยละ 18.34 รับจ้างทั่วไป  ร้อยละ 11.60 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณ ร้อยละ 7.32 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ  5.35  ว่างงาน (รอสมัครงาน) และ ร้อยละ 0.58 มีอาชีพอื่น ๆ ได้แก่ ทุพพลภาพ ป่วยติดเตียง สมัครใจที่จะว่างงาน      

ระดับการศึกษา ร้อยละ 16.94 มีการศึกษาระดับประถม/ต่ำกว่า ร้อยละ 34.54 มัธยม/ปวช. ร้อยละ 29.28 อนุปริญญา/ปวส. ร้อยละ 17.52  ปริญญาตรี  และร้อยละ 1.73 สูงกว่าปริญญาตรี

ภูมิภาค ร้อยละ 14.47 อยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมาณฑล*   ร้อยละ 18.42 อยู่ในภาคเหนือ   ร้อยละ 13.82 อยู่ในภาคใต้  ร้อยละ 13.16 อยู่ในภาคกลางและภาคตะวันตก  ร้อยละ 7.89 อยู่ในภาคตะวันออก  ร้อยละ 32.24 อยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

การสำรวจครั้งนี้ มีขึ้นในช่วงวันที่ 1-4 ธันวาคม 2566 การสุ่มตัวอย่างใช้การสุ่มโดยใช้ความน่าจะเป็น ด้วยวิธี Stratified Five-Stage Random Sampling แต่ละตัวอย่างที่ถูกเลือกมีค่าถ่วงน้ำหนัก (sampling weight) ที่แตกต่าง วิธีการสำรวจเป็นแบบผสม โดยลงพื้นที่สำรวจ 50% และสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ 50% ค่าความผิดพลาด (error) ของการสำรวจอยู่ที่ 3%  ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%