รายงานพิเศษ : จับตา 2 คดีก้าวไกล ถือหุ้นสื่อ-แก้ม.112 ฟันคน-ไม่ฟันพรรค

20 ธ.ค. 2566 | 02:00 น.
อัพเดตล่าสุด :20 ธ.ค. 2566 | 02:08 น.

จับตา 2 คดีในมือศาลรธน. ปม“พิธา”ถือหุ้นสื่อไอทีวี หาก“ไม่รอด”เป็นความผิดเฉพาะตัวไม่ถึงยุบพรรค ส่วนแก้ ม.112 คาดไม่กระทบถึงยุบพรรคก้าวไกล เหตุคำร้องแค่ให้หยุดการกระทำ หลังปีใหม่รู้ผลทั้ง 2 คดี


ในวันพุธที่ 20 ธ.ค. 2566 เวลา 9.30 น. ศาลรัฐธรรมนูญจะออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานบุคคลในคดีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่ จากกรณีเป็นผู้ถือหุ้นใน บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือ สื่อมวลชนใดๆ อยู่ในวันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

คดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณา และสั่งให้ นายพิธา ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส. นับแต่วันที่ 19 ก.ค. 2566  จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย 

ต่อมา นายพิธา ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา พร้อมบัญชีระบุพยานเอกสาร พยานบุคคล พยานวัตถุ  ฉบับลงวันที่ 2 ต.ค. 2566 และบัญชีระบุพยานบุคคลเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ฉบับลงวันที่ 18 ต.ค. 2566 โดยศาลได้อนุญาตตามที่ นายพิธา ขอขยายระยะเวลาจัดทำบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง หรือ ความเห็นล่วงหน้า

โดยให้จัดส่งภายในวันอังคารที่ 12 ธ.ค. เพื่อให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง ที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องสำเนาแก่คู่กรณีฝ่ายอื่น เพื่อทราบก่อนวันนัดไต่สวนไม่น้อยกว่า 7 วัน 
หลังศาลไต่สวนพยานบุคคลจบลงในวันที่ 20 ธ.ค. คาดว่าหลังจากนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจะนัดฟังคำวินิจฉัย ประมาณปลายเดือน ม.ค. 2567 

คดีหุ้นสื่อ“พิธา”ลูกผีลูกคน 

ทั้งนี้ 2 บก.เครือเนชั่น ประกอบด้วย นายสมชาย มีเสน และ นายวีระศักดิ์ พงษ์อักษร ได้วิเคราะห์ในรายการเนชั่นอินไซด์ ทางเนชั่นทีวี ช่อง 22 ชี้ว่า ประเด็นการถือครองหุ้นมรดกของ นายพิธา ศาลรธน.จะดูจากเอกสาร ไม่รู้ว่า ในใบหุ้นได้วงเล็บไว้หรือไม่ว่า นายพิธา เป็นผู้จัดการมรดก แต่ถึงจะโอนให้น้องได้ ต้องนำมาแจ้งศาล 

การถือครองหุ้นไอทีวี ยังเป็นสื่อหรือไม่ คนที่อธิบายมีส่วนสำคัญทางคดีคือ นายคิมห์ สิริทวีชัย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด ผู้ทำหน้าที่เป็นประธานประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ศาลคงจะถามว่า ไอทีวี ยังทำสื่อหรือไม่ 

แม้ก่อนหน้านั้น สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เคยสั่งให้ ไอทีวี ยุติการออกอากาศ แต่ต่อมาไอทีวี ไปฟ้องร้องว่า คำสั่งนี้ขัดต่อคำสั่งทางปกครองหรือไม่ เพราะไอทีวีไม่ได้เลิกกิจการ เพียงแค่พักกิจการเท่านั้น

กรณีนี้ต้องไปดูว่า ถ้าไอทีวีบอกว่า ตั้งใจทำสื่อต่อ จะเป็นอย่างไร หัวใจสำคัญคือ วันที่ นายพิธา สมัครส.ส.พรรคก้าวไกล ไอทีวียังทำสื่อหรือไม่

เรื่องนี้ แม้ นายพิธา บอกว่ามั่นใจ 100% พร้อมจะชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนการเป็นผู้จัดการมรดก ก็มีหลักฐานที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหน พร้อมจะไปเปิดเผยต่อศาล ซึ่งคดีถือหุ้นสื่อ นายพิธา ถ้าดูจากข้อมูล ได้ลุ้นเยอะว่า จะ “รอด” หรือ “ไม่รอด”

สมมติ หาก นายพิธา “ไม่ผิด” นายชัยธวัช ตุลาธน อาจจะลาออกจากหัวหน้าพรรค และให้ นายพิธา ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้งก็เป็นได้ และสามารถกลับมาลงสมัคร ส.ส.ได้ 

แต่หากศาลรธน.วินิจฉัยว่า “ผิด” นายพิธา ก็จะพ้นจากการเป็น ส.ส. และ กกต.สามารถนำคำวินิจฉัยไปยื่นฟ้อง นายพิธา ในคดีอาญา ได้ตาม มาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งมีบทลงโทษคือ จำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับ 20,000- 200,000 บาท และ ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นกำหนด 20 ปี

คดีนี้เป็นความผิดเฉพาะตัว เชื่อว่าไม่ลามถึงขั้นเอาผิด “ยุบพรรค” ได้

                           รายงานพิเศษ : จับตา 2 คดีก้าวไกล ถือหุ้นสื่อ-แก้ม.112 ฟันคน-ไม่ฟันพรรค

แก้ม.112 ไม่ยุบพรรค

อีกคดีคือ กรณีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความของพุทธะอิสระ ขอให้ศาลรธน.วินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในขณะนั้น  และ พรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ..เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่ 

คดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดนัดพิจารณาคดีต่อ ในวันพุธที่ 20 ธ.ค. ก่อนที่จะไต่สวนพยานบุคคลในวันจันทร์ที่ 25 ธ.ค. 2566 เวลา 9.30 น.

กรณีนี้ 2 บก.เครือเนชั่น ระบุว่า คดีพรรคก้าวไกล เสนอแก้ประมวลกฎหมายอาญา ม.112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ หรือไม่ วันที่ 25 ธ.ค.นี้ ศาลรัฐธรรมนูญ จะไต่สวนพยาน 6 ปาก 

มีการมองเหตุผลสำคัญ “อาจไม่ยุบพรรค” เนื่องจากในคำร้อง ไม่ได้ขอให้ยุบพรรค ขอเพียงว่าให้หยุดการกระทำเท่านั้น ไม่ได้บอกให้ยุบพรรค ศาลก็จะวินิจฉัยตามคำร้องเท่านั้น 

“ถ้าผิดก็บอกให้หยุดการกระทำเท่านั้น แต่ถ้าไม่ผิด พรรคก้าวไกล หรือ พรรคอื่น ก็นำเรื่อง ม.112 ไปหาเสียงได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคสี่ ที่ระบุ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ผูกพันทุกองค์กร ทั้งนี้ ในกรณีนี้ถ้าไม่ผิด ก็จบเลย ทุกพรรคก็นำไปหาเสียงได้ ซึ่งทั้ง 2 คดีจะรู้ผลหลังปีใหม่ 2567” 

“การจะนำไปสู่การยุบพรรคก้าวไกลแทบไม่ต้องลุ้น”  2 บก.ฟันธง

ทั้งนี้ คดี “ถือหุ้นสื่อ” ที่มี นายพิธา ถูกกล่าวหา และ คดีแก้ ม.112 ที่มี นายพิธา และ พรรคก้าวไกล ถูกกล่าวหา หากจะมีความผิดก็น่าจะเป็นความผิด “เฉพาะตัวบุคคล” คงไม่ลามถึงยุบพรรคก้าวไกลแต่อย่างใด

++++++

คำร้องขอให้หยุดแก้ ม.112

นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าวพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

นายธีรยุทธ ระบุในคำร้องว่า ได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด(อสส.) เมื่อ 30 พ.ค. 2566 ขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งนายพิธา และพรรคก้าวไกล “เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพอันนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ เพื่อเป็นมาตรการป้องกันความเสียหายร้ายแรงที่อาจจะเกิดแก่สถาบันหลักของประเทศไว้ก่อน อันเป็นรัฐประศาสโนบายที่จำเป็นเพื่อดับไฟกองใหญ่ไว้แต่ต้นลม”

ทั้งนี้ ในคำร้องของ นายธีรยุทธ ที่ส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ขอให้มีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกลแต่อย่างใด แต่ขอให้ศาลสั่งให้ นายพิธา และ พรรคก้าวไกล เลิกการดำเนินการใด ๆ หรือการกระทำใด ๆ เพื่อยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 และ เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิก หรือ แก้ไขมาตรา 112 ที่กระทำอยู่ และจะดำเนินการหรือกระทำต่อไปในอนาคตด้วย