วันนี้ (20 ธ.ค. 66) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวแสดงความห่วงใยในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2567 ว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ของทุกปีซึ่งมีวันหยุดต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน พี่น้องประชาชนและผู้จัดงานสถานที่ต่าง ๆ มักจะมีการจัดเตรียมงานเลี้ยงสังสรรค์ หรือมีกิจกรรมพิเศษ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง ซึ่งในบางกิจกรรมอาจมีการเล่นดอกไม้เพลิง จุดและปล่อยพลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน กันอยู่บ่อยครั้ง
รวมถึงการยิงปืนขึ้นฟ้า ในช่วงเวลาส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ประกอบกับหลายพื้นที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากในช่วงเทศกาลปีใหม่ อาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่าง ๆ เช่น การทะเลาะวิวาท การทำร้ายร่างกาย การชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ในระหว่างจัดงานเฉลิมฉลอง หรืออาจเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น และลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจากการเล่นดอกไม้เพลิง การจุดและปล่อยพลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน และการใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 กระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดกำชับอำเภอพิจารณาอนุญาตการจุดและปล่อยพลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ของประชาชนและผู้จัดงานสถานที่ต่าง ๆ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การอนุญาตที่กำหนดไว้ในประกาศจังหวัดซึ่งออกตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 27/2559 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2559 โดยเคร่งครัด และได้ขอความร่วมมือให้ทุกหน่วยงานประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ
รวมทั้งที่ประชุมคณะกรรมการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยอำเภอ ที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ทราบอย่างต่อเนื่อง ว่าการจุดและปล่อยพลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกันต้องได้รับอนุญาตจากนายอำเภอท้องที่
หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามข้อ 5 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 27 / 2559 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2559 และทราบถึงอันตรายที่เกิดจากการใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้าโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้าน หรือที่ชุมชน ตลอดจนความผิดและโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้นายทะเบียนท้องที่และเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ออกไปตรวจร้านค้าหรือผู้ทำดอกไม้เพลิงที่ได้รับอนุญาตให้ทำ สั่ง นำเข้า หรือค้า ซึ่งดอกไม้เพลิงในพื้นที่ของอำเภอ ตามอำนาจหน้าที่ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
หากพบว่า บุคคลผู้ใดทำหรือค้าซึ่งดอกไม้เพลิงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ให้ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนตามกฎหมายต่อไป
"สำหรับในการออกไปตรวจร้านค้าหรือผู้ทำดอกไม้เพลิง ฝ่ายปกครองจะมีการปฏิบัติหน้าที่บูรณาการร่วมกันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามประกาศกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2547 เรื่อง หลักเกณฑ์การควบคุมและการกำกับดูแลการผลิต การค้า การครอบครอง การขนส่งดอกไม้เพลิง และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตดอกไม้เพลิง พ.ศ. 2547
พร้อมทั้งกำชับให้นายทะเบียนท้องที่กวดขันห้ามมิให้มีการจำหน่ายดอกไม้เพลิงนอกเหนือจากสถานที่ค้าที่ได้รับอนุญาตเป็นอันขาด รวมถึงกําชับเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งมีอำนาจออกคำสั่งระงับและป้องกันเหตุเดือดร้อน รําคาญในการเล่นดอกไม้เพลิง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินอีกด้วย" ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการรายงานผลกรณีมีเหตุการณ์สำคัญ หรือมีการจับกุมเกี่ยวกับการจุดและปล่อยพลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ และโคมควัน ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการรายงานผลตามแนวทางที่ระบุไว้ในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 27/2559 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2559 เพื่อให้มีการปฏิบัติได้ทันท่วงที
สำหรับกรณีที่ปรากฏว่าผู้ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนกระทำความผิดฐานใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้าโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้าน หรือที่ชุมชน หัวกระสุนปืนอาจตกลงมาทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายได้ โดยไม่ว่าจะมีผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ ได้รับอันตรายสาหัส หรือถึงแก่ความตาย ให้นายทะเบียนท้องที่เรียกประกัน หรือทัณฑ์บน ตามมาตรา 68 หรือพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ตามควรแก่กรณี
นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดมีการรณรงค์และสร้างความตระหนักรู้ให้พี่น้องประชาชนคำนึงถึงความปลอดภัยบนท้องถนน ทั้งเรื่องเมาไม่ขับ ง่วงไม่ขับ สวมหมวกนิรภัย รัดเข็มขัดนิรภัย ขับไม่โทร ไม่เล่นไลน์ เพื่อให้พี่น้องประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนเดินทางสัญจรอย่างปลอดภัย คนเดินเท้า คนเดินถนนก็มีความปลอดภัย ก็จะทำให้เป็นการลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ และประชาสัมพันธ์สายด่วนศูนย์ให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ
เช่น หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน 1669 แจ้งเหตุเพลิงไหม้ – ดับเพลิง 199 หรือแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดผ่านสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 เป็นต้น และสามารถขอรับความช่วยเหลือ หรือขอรับบริการอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ ได้ที่จุดให้บริการประชาชนทั้งถนนสายหลัก และถนนสายรอง ทั่วประเทศ
หากพี่น้องประชาชนพบการกระทำความผิดหรือมีความประสงค์จะติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการที่เกี่ยวข้องหรือข้อปฏิบัติในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 สามารถแจ้งหรือสอบถามได้ที่ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอทุกแห่ง โทรสายด่วน 1567 หรือ สายด่วนนิรภัย 1784 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้ข้อมูลและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง