เมื่อเร็วๆ นี้ เพจองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันและMana Nimitmongkol ได้เผยแพร่บทความเขียนโดย นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT มีสาระสำคัญความว่า “โกงไม่อายใคร ท้าทายไม่เกรงกลัว” ปรากฏชัดมากขึ้นในปีที่ผ่านมาโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมราชทัณฑ์และ ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานที่น่ากังขา ขณะที่ตำรวจ ป.ป.ป. ก้าวมาเป็นความหวังใหม่ พฤติกรรมฉ้อฉลแบบย้อนยุคของนักการเมืองกำลังหวนคืน กลไกรัฐหลงอำนาจและซื้อขายได้กลายเป็นโอกาสให้เอกชนบางรายเอาเปรียบสังคม ดังปรากฏพบความเกี่ยวข้องกับ 10 คดีคอร์รัปชันหรือกรณีคาบเกี่ยวกับการทุจริตในรอบปี 2566 ประกอบด้วย
1. คดีส่วยสินบนกรมอุทยานแห่งชาติ อดีตอธิบดีถูกจับพร้อมหลักฐานซองเงินค่าวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งและค่ารักษาเก้าอี้ เงินส่วย เงินทอน และกระเช้าของขวัญจำนวนมาก กรมนี้มีงบประมาณปีละ 1.1 หมื่นล้านบาท บุคลากร 4 หมื่นคน ดูแลผืนป่า 73.61 ล้านไร่
2. คดีทุนจีนสีเทา อาชญากรรมข้ามชาติมีเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองสนับสนุน ช่วยเหลือ ปกป้อง นำไปสู่การเปิดโปงเรื่องอื้อฉาวอื่นๆ เช่น กรณีตู้ห่าวและผับจินหลิง กรณีนายหยู ชิน ซี ที่ตั้งสมาคมเถื่อนเป็นช่องทางจัดหาวีซ่าให้คนจีนเข้าประเทศมากถึง 7 พันคนในช่วงปี 2563 – 2564 กรณีสารวัตรซัว นายตำรวจพัวพันบ่อนออนไลน์เครือข่ายใหญ่ กรณีบ่อนมินนี่และเว็บพนันออนไลน์888 ที่มีนายพลตำรวจสายไอทีมีเอี่ยว จนสังคมสงสัยว่า การที่แก๊งคอลล์เซ็นเตอร์ระบาดเต็มบ้านเต็มเมืองได้เพราะนายตำรวจหลายคนไปรับเงินจากขบวนการจีนเทาด้วย ใช่หรือไม่
3. คดีโกดังพลุเถื่อนระเบิดที่บ้านมูโน๊ะ นราธิวาส ทั้งที่ตั้งอยู่กลางตลาดและเป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษของทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง กอ.รมน. ศอ.บต. จึงเชื่อว่างานนี้ต้องมีคนรับส่วยกินสินบนค่าปิดตามองไม่เห็นแน่นอน ล่าสุดเจ้าของโกดังต้องคดี แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดถูกแจ้งข้อหา คนตาย 11 ราย บาดเจ็บ 389 ราย เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือน 649 หลัง โรงเรียน 4 หลัง ยานพาหนะของชาวบ้านอีกจำนวนมาก แม้ทางการระบุมูลค่าความเสียหายไวเพียง 146 ล้านบาท แต่ค่าเสียหายจริงและความบอบช้ำสำหรับชาวบ้านแล้วประเมินค่ามิได้
4. คดีดัง 2 ส.ว. กับพฤติกรรมใช้อำนาจฉ้อฉล ได้แก่ คดี ส.ว. ซุกกิ๊ก ก่อเรื่องฉาวซ้อมทหารรับใช้หญิงยศสิบโท สะท้อนการเอาเปรียบหลวงของเครือข่ายผู้มีอำนาจในวงการทหาร ตำรวจและการเมืองที่ให้การอุปถัมภ์พวกพ้องอย่างน่ารังเกียจ ถึงปัจจุบันเรื่องเงียบหายไป ส.ว. คนดังไม่มีความผิด
และอีกคดีคือ ส.ว. ชื่อดังถูกอัยการสั่งฟ้อง 6 ข้อหาพัวพันเครือข่ายอาชญากรข้ามชาติและธุรกิจมืดชายแดนพม่าช่วงแรกที่เกิดคดี ประชาชนให้ความสนใจติดตามเป็นอย่างมาก นอกจากตำรวจแล้วยังมีหน่วยงานอื่นเข้าร่วมสอบสวนมากเป็นประวัติการณ์ เช่น ป.ป.ช. สตง. ดีเอสไอ กรมสรรพากร ป.ป.ง. ป.ป.ท. และกระทรวงมหาดไทย
5. คดีกำนันนก นักธุรกิจท้องถิ่นผู้มีอิทธิพล ช่วง 12 ปี ได้งานจากรัฐ 1,200 โครงการ มูลค่าราว 7 พันล้านบาท คดีนี้พัวพันการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ รถบรรทุกน้ำหนักเกิน ธุรกิจสีเทา ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง การฟอกเงิน และเครือข่ายบ้านใหญ่ในจังหวัด
6. คดีหมูแช่แข็งเถื่อน ลักลอบนำเข้าต่อเนื่องมา 3 ปีนับหมื่นตู้คอนเทนเนอร์ รัฐขาดรายได้จากภาษีไม่น้อยกว่า 2.5 พันล้านบาท แต่กระทบต่อความอยู่รอดของผู้เลี้ยงหมูและอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูอย่างรุนแรงชัดเจน คดีนี้พัวพันระหว่างพ่อค้านำเข้า ห้างค้าส่ง โรงงานแปรรูปอาหาร แต่ที่หลบในมุมมืดคือ นักการเมืองใหญ่อดีต รมช. สองกระทรวง กับอีก 3 หน่วยงานรัฐคือ กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ กรมประมง
7. กรณีลูกเขยนายชาดา รมช. มหาดไทยถูกจับเพราะเรียกรับเงิน 6 แสนบาทจากผู้รับเหมาฯ งานนี้สังคมอยากรู้ว่า รัฐบาลจะกำจัดผู้มีอิทธิพลหรือกำจัดคู่แข่งของผู้มีอิทธิพลได้ก่อนกัน
8. คดีเสาไฟกินรี และโครงการประเภท “คิด ทำ ทิ้ง” ทั่วประเทศ เช่น เครื่องออกกำลังกาย เครื่องกรองน้ำและโซล่าเซลล์ ลานออกกำลังกายชุมชน เครื่องผลิตน้ำประปา เสาไฟโซล่าเซลล์ ฯลฯ คดีเสาไฟกินรีเฉพาะที่ อบต. ราชาเทวะเพียงแห่งเดียว จัดซื้อไปแล้ว 871 ล้านบาท ทำให้ประเมินว่าทั่วประเทศมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท แต่มากเท่าไหร่นั้นยากจะระบุชัด เพราะจัดซื้อโดยหน่วยราชการและ อปท. ทั่วประเทศ โดยใช้ชื่อโครงการจัดซื้อหรือเรียกชนิดสินค้าแตกต่างกันอย่างมาก จนปัจจุบันการจัดซื้อเสาไฟกินรียังทำได้ไม่มีข้อห้าม คดีที่ ป.ป.ช. สอบสวนตั้งแต่ปี 2558 ยังไร้บทสรุป สำนักงบประมาณ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ต่างไม่มีข้อกำหนดใดออกมา
9. กรณีส่วยทางหลวง สติ๊กเกอร์และขบวนการรีดไถรถบรรทุก มูลค่ากว่าหมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งตำรวจทางหลวง กรมทางหลวง ตำรวจท้องที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จนถึงอัยการจังหวัดบางคน
10. กรณีโกงนมโรงเรียน (งบประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท) อาหารกลางวันเด็ก (งบประมาณ 2.85 หมื่นล้านบาท) ตำราเรียน (งบประมาณ 5.18 พันล้านบาท)
ทั้งนี้ นายมานะ ระบุว่า ทุกเรื่องมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของทุกคนจึงขอเชิญชวนประชาชนช่วยกันเฝ้าระวัง สอดส่อง เพราะจากคดีดังกล่าวสะท้อนภาพชัดเจนว่า ห่วงโซ่คอร์รัปชันโกงกินร่วมกันระหว่างข้าราชการ-นักการเมือง-กลุ่มทุนมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
ยิ่งการที่คนของรัฐกลับมีส่วนร่วมในห่วงโซ่คอร์รัปชันเสียเอง ยิ่งจำเป็นต้องอาศัยเจตน์จำนงของผู้นำประเทศเข้มงวด เคี่ยวกรำ กำราบ เพราะหากก้าวข้ามคอร์รัปชันไม่ได้ รัฐบาลคิดทำอะไรก็ยากจะสำเร็จ เพราะคนจ้องจะคดโกงมีมาก จนสังคมไม่ไว้วางใจ ไม่ร่วมมือ
“เพื่อหยุดวิกฤตนี้ รัฐบาลต้องใส่ใจจริงจัง ต่อสู้เชิงรุกโดยประกาศให้การต่อต้านคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ จัดตั้งวอร์รูมโดย นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะทำงานร่วมกับภาคประชาชน” เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าวและว่า ขนานกันไปยังจำเป็นต้องอาศัยพลังประชาชนร่วมกันติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังเพื่อให้เกิดผลในทางป้องกัน ทั้งนี้ จาก 10 คดีคอร์รัปชัน สามารถใช้เครื่องมือจับโกงโดยเครื่องมือหลักยังเป็น ACTAi (https://actai.co) ดังนี้
กลุ่มแรก คดีกำนันนก, คดีลูกเขยนายชาดา, คดีก่อสร้างโรงพักและแฟลตตำรวจ, โครงการรถไฟทางคู่, การขยายอาคารผู้โดยสารสนามบิน, คดีเสาไฟกินรี เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง สามารถสืบค้นข้อมูลโครงการที่ “จับโกงจัดซื้อจัดจ้าง” (https://actai.co) และ จับโกงงบ อบจ. https://localbudgeting.actai.co/
กลุ่มที่สอง คดีหมูแช่แข็งเถื่อน, คดีสวยสินบนกรมอุทยาน, คดีจับลูกเขยนายชาดา และคดีนักการเมืองครอบครองที่ดินผิดกฎหมาย เกี่ยวข้องกับการเอื้อประโยชน์ให้กับเครือข่าย ความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และข้อมูลนักการเมือง ท่านสามารถสืบค้นความสัมพันธ์เชิงเครือญาติผ่านนามสกุล ได้ผ่านเครื่องมือ “จับโกงเครือข่ายความสัมพันธ์” (http://bit.ly/actai-connection)
และเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ประวัติการทำงาน การโยกย้ายตำแหน่ง ข้อมูลบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน และความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ผ่านเครื่องมือ “ฐานข้อมูลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูง” (https://poldata.actai.co/) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเพิ่มเติมข้อมูลในระบบ
กลุ่มที่สาม กรณีโกงในโรงเรียน ทั้งครู ผู้ปกครอง นักเรียนสามารถเรียนรู้และมีส่วนร่วมในการส่งเสริมธรรมาภิบาลในโรงเรียนผ่านการลงมือทำ ด้วยการใช้เครื่องมือ “โรงเรียนโปร่งใส” (https://schoolgov.actai.co/)
นอกจากนั้น เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ยังได้ตั้งประเด็นถึง เรื่องน่าสงสัยในกระบวนการลงโทษคนโกง ประกอบด้วย
(1) กรมราชทัณฑ์ลดโทษ ขออภัยโทษให้นักโทษคดีคอร์รัปชัน รวมถึงปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างเท่าเทียม ไม่มีอภิสิทธิ์ชน เช่นกรณีชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ
(2) หลายคดีที่ ป.ป.ช. ชี้ว่ามีมูลความผิดแต่อัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือ สตง. เห็นว่าไม่ผิด หลายคดีที่ศาลตัดสินว่าผิดแต่ให้รอลงอาญา และหน่วยงานต้นสังกัดของจำเลยทำแค่สั่งลงโทษทางวินัยไม่ร้ายแรง
(3) คดีนายอิทธิพล คุณปลื้ม หนีไปต่างประเทศ หลังป.ป.ช.ส่งสำนวนถึงอัยการล่าช้ามาก
(4) คดีก่อสร้างโรงพักและแฟลตตำรวจ นักการเมืองพ้นผิด แต่ตำรวจติดคุก 8 นาย เช่นเดียวกับ
(5) คดีรุกป่าเขาใหญ่ นายสุนทร นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ พ้นผิด แต่ข้าราชการติดคุก
(6) นักการเมืองครอบครองที่ดินผิดกฎหมาย แม้หลายคนโดนลงโทษแล้ว แต่ยังเหลืออีกมากกว่า 10 คดีในมือ ป.ป.ช. เช่น ครอบครัวนักการเมืองใหญ่รุกที่ดินการรถไฟที่เขากระโดง บุรีรัมย์
ปิดท้ายด้วย กรณีต้องจับตาในปี 2567 การประมูลงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐโครงการขนาดใหญ่ ได้แก่
(1) การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ล้มและเลื่อนยาวเพราะเจ้าหน้าที่รัฐทำเรื่องไม่ชอบมาพากลซ้ำซ้อน
(2) สัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จบการประมูล 5 ปีแล้วแต่เอกชนผู้ชนะยังขอเจรจาอยู่แล้วแต่เอกชนผู้ชนะยังขอเจรจาอยู่ โดยไม่เปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้สิ่งที่เปลี่ยนไป ถือเป็นการทำลายหลักพื้นฐานการประมูลงานอย่างเป็นธรรม
(3) โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน 1.79 แสนล้านบาท ที่ล่าช้า ยืดเยื้อ มากข้อขัดแย้ง
(4) สินบนข้ามชาติไม่คืบหน้า สินบนโรลส์รอยซ์ สวนปาล์มน้ำมันที่อินโดนีเซีย เหมืองทอง
(5) โครงการรถไฟทางคู่ที่กำลังก่อสร้างและจะประมูลเพิ่มเติม
(6) การขยายอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ เฟสสอง