สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดทำรายงานเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบสรุปผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยสถาบันการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development: IMD) ปี 2566 โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามประเด็นการขับเคลื่อนที่ควรให้ความสำคัญในระยะต่อไป สรุปได้ดังนี้
การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ในปี 2566 ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับดีขึ้น 3 อันดับ จากอันดับที่ 33 ในปี 2565 มาอยู่ในลำดับที่ 30 โดยประเทศไทยยังคงอยู่ในอันดับที่ 3 ของกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่ได้รับการจัดอันดับในรอบนี้
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบอันดับความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มประเทศ ในภูมิภาคอาเซียนที่จัดอันดับโดย IMD ประกอบด้วย สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ พบว่า ในปี 2566 สิงคโปร์ยังคงเป็นประเทศที่มีอันดับความสามารถในการแข่งขันสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน คืออยู่ใน อันดับที่ 4 รองลงมา คือ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
สศช.ติงจุดอ่อนทำขีดความสามารถไทยต่ำ
สศช. รายงานว่า ในการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ประจำปี 2566 นั้น ผลการจัดอันดับได้สะท้อนถึงประเด็นที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อนของประเทศในด้านต่าง ๆ โดยสามารถ จำแนกได้ ดังนี้
ประเด็นที่เป็นข้อได้เปรียบของประเทศ
ยังคงเป็นประเด็นทางด้าน ตลาดแรงงานและการจ้างงานที่ประเทศไทยมีความโดดเด่นในด้านการมีอัตราการว่างงานที่ต่ำ ตลาดทุนที่มี ความเข้มแข็ง และโครงข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตจากการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยี อย่างต่อเนื่อง
ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ
เป็นประเด็นที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับต่ำมาอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนมากเป็นประเด็นเชิงสถาบันและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เช่น ประเด็นเรื่อง เสถียรภาพทางการเมือง การคอร์รัปชัน กฎหมายและกฎระเบียบที่ไม่เอื้ออำนวยให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจ การเพิ่มผลิตภาพของภาคการผลิตและภาคแรงงาน รวมถึงปัญหาเรื่องการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ และการศึกษา และการสนับสนุนและการบังคับใช้ทรัพย์สินทางปัญญา
โดยประเด็นทั้งหมดนั้นควรได้รับการสนับสนุน และผลักดันให้เกิดการแก้ไข เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันฯ และการพัฒนาประเทศต่อไป
ผลการจัดอันดับของไทยแต่ละด้าน
สำหรับผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ในปี 2566 พิจารณาปัจจัยหลักทั้ง 4 กลุ่ม ปัจจัยหลักด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ปัจจัยหลักด้านประสิทธิภาพภาครัฐ ปัจจัยหลักด้านประสิทธิภาพภาคธุรกิจ และ ปัจจัยหลักด้านโครงสร้างพื้นฐาน พบข้อมูลดังนี้
ปัจจัยหลักด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance)
อยู่ในอันดับที่ 16 หรือดีขึ้นอย่างมากถึง 18 อันดับ เนื่องจากปัจจัยย่อยทุกปัจจัยมีอันดับดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยย่อยด้านการลงทุนระหว่างประเทศ มีอันดับดีขึ้น 11 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 22 และปัจจัยย่อย ด้านการค้าระหว่างประเทศ มีอันดับดีขึ้น 8 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 29
เป็นผลจากการตื่นตัวของนักลงทุนที่เริ่มกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังจากการชะลอตัวในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และการฟื้นตัวของภาคการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะภาคส่งออกในปี 2565 ที่มีการขยายตัว 5.5%
ปัจจัยหลักด้านประสิทธิภาพภาครัฐ (Government Efficiency)
อยู่ในอันดับที่ 24 หรือดีขึ้น 7 อันดับจากอันดับที่ ในปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากอันดับของปัจจัยย่อยด้าน 31 การคลังที่ปรับตัวดีขึ้น 4 อันดับ โดยเฉพาะตัวชี้วัดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายภาครัฐ ในขณะที่ปัจจัยย่อย ด้านกรอบการบริหารสถาบัน และด้านกฎระเบียบทางธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้น 7 อันดับ จากตัวชี้วัดด้านการดำเนิน นโยบายของธนาคารกลาง และตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายแรงงานมีการปรับตัวที่ดีขึ้น
ปัจจัยหลักด้านประสิทธิภาพภาคธุรกิจ (Business Efficiency)
อยู่ในอันดับที่ 23 หรือที่ดีขึ้น 7 อันดับจากอันดับที่ 30 ในปีก่อนหน้า เนื่องจากปัจจัยย่อยทุกด้านมีอันดับดีขึ้น ในขณะที่ ปัจจัยย่อยด้านการบริหารจัดการอยู่ในอันดับคงที่ โดยปัจจัยย่อยด้านผลิตภาพและประสิทธิภาพ มีอันดับดีขึ้นถึง 9 อันดับ โดยพบว่าผู้ประกอบการของไทยทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดย่อม มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากลเพิ่มขึ้น ตลอดจนความสามารถในการใช้เครื่องมือดิจิทัลและเทคโนโลยี มีการปรับตัวดีขึ้นถึง 6 อันดับ
ปัจจัยย่อยด้านการเงินมีอันดับดีขึ้น 5 อันดับจากตัวชี้วัดด้านการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ และมูลค่าของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์มีการปรับตัวดีขึ้น และปัจจัยย่อยด้านทัศนคติ และค่านิยมมีอันดับดีขึ้น 6 อันดับอันเป็นผลมาจากทัศนคติของผู้ประกอบการต่อการดำเนินธุรกิจภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น
ปัจจัยหลักด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)
อยู่ในอันดับที่ 43 หรือดีขึ้น 1 อันดับจากอันดับที่ 44 ในปี 2565 โดยปัจจัยย่อยด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีมีอันดับดีขึ้น ถึง 9 อันดับ และด้านโครงสร้างพื้นฐานอยู่ในอันดับคงที่ เป็นผลจากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่ตอบสนองความต้องการของ ภาคธุรกิจ และการพัฒนาประสิทธิภาพของความเร็วอินเทอร์เน็ต
อย่างไรก็ดี ปัจจัยย่อยด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และด้านการศึกษายังคงมีอันดับที่ลดลงและตัวชี้วัดจำนวนมาก ในกลุ่มนี้ยังอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง อาทิ การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ และบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งประเด็นด้านทรัพย์สินทางปัญญา