วันนี้ ( 28 ธ.ค. 66) ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ ยื่นฟ้องกรมธนารักษ์ และ คณะกรรมการที่ราชพัสดุ โดยมี บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ร้องสอด เพื่อขอเพิกถอนมติของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ที่ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 16 ก.ค. 64 และขอเพิกถอนประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 10 ก.ย. 64
โดยศาลเห็นว่า กรมธนารักษ์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีอำนาจในการจัดทำร่างประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้าร่วมโครงการ ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญา เสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตรวจพิจารณา และมีอำนาจในการกำหนดข้อสงวนสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติม ยกเลิกประกาศเชิญชวน เอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน การยกเลิกการคัดเลือกเอกชน และการสงวนสิทธิ์อื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการกำหนดข้อสงวนสิทธิ์ ไม่ได้เป็นการขัดต่อหลักการที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง กำหนดข้อสงวนสิทธิ์ไว้ในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนแนบท้ายประกาศเชิญชวนฉบับลงวันที่ 16 ก.ค. 64 จึงเป็นการกำหนดไว้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
และต้องถือว่า การที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติในการประชุมครั้งที่ 6/2564เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 64 ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 16 ก.ค. 64 เป็นการกระทำไปโดยอาศัยอำนาจตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และเป็นการใช้ดุลพินิจให้บรรลุวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทางราชการมากที่สุดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 พ.ร.บ. ที่ราชพัสดุ 2562 และข้อ34 (1) ของกฎกระทรวงการจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุ 2564 แล้ว
สำหรับกรณีที่เนื้อหาของประกาศเชิญชวน ฉบับลงวันที่ 10 ก.ย.64 และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน มีการเปลี่ยนแปลงจากประกาศเชิญชวน ฉบับลงวันที่ 16 ก.ค. 64 ไม่มีผลกระทบต่อผู้ยื่นข้อเสนอที่จะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ฟ้องคดีหรือผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น
กรมธนารักษ์ มีดุลพินิจในการกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอได้ตามที่เห็นสมควร โดยคำนึงถึงความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ปราศจากการมีส่วนได้เสีย และเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุ แม้จะฟังว่าการปรับเกณฑ์คุณสมบัติผู้เข้าร่วมคัดเลือก จะเป็นการลดทอนให้ด้อยลงหรือไม่ก็ตาม
แต่เมื่อคณะกรรมการคัดเลือกฯ และกรมธนารักษ์ กำหนดหลักเกณฑ์และคุณสมบัติดังกล่าวโดยพิจารณาแล้วว่า เป็นไปเพื่อพิจารณาความสามารถและความเป็นไปได้จริง ของผู้ยื่นข้อเสนอที่จะสามารถดำเนินการบริหารโครงการไปได้ตลอดอายุสัญญา ไม่ละทิ้งไปจนอาจทำให้ผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อนเสียหาย มีมาตรฐานอ้างอิง มีเกณฑ์การพิจารณาให้คะแนนที่ชัดเจนเหมาะสมขึ้น สามารถตรวจสอบได้
โดยไม่ปรากฏว่า มีส่วนได้เสียในการกำหนดเกณฑ์เพื่อดำเนินการคัดเลือกเอกชน และเป็นไปเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทางราชการมากที่สุด จึงเป็นการใช้ดุลพินิจในการกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอ และเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชนตามความเหมาะสมและความจำเป็น แห่งกรณีเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ ไม่มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่เอกชนรายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง ที่จะทำให้เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
เมื่อคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติในในการประชุมครั้งที่ 2/2564วันที่ 29 ก.ย. 64ให้ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก
และได้เจรจากับผู้ร้องสอดเพื่อตกลงในเงื่อนไขสำคัญของสัญญาตามมติในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 64 แล้วนำเสนอให้คณะกรรมการที่ราชพัสดุ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 พิจารณาให้ความเห็นชอบตามอำนาจหน้าที่แล้ว และมีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2565เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 65 เห็นชอบการดำเนินการ
ผลการคัดเลือก บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นคู่สัญญาในการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก จึงเป็นไปตามหน้าที่ และอำนาจ ตามข้อ 34 ประกอบข้อ 32 ของกฎกระทรวงการจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุ 2564 กำหนดไว้แล้ว
โดยไม่มีเหตุที่จะรับฟังว่า เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายในลักษณะใด และเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนสัญญาโครงการบริหาร และดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 23 ก.ย.65 ที่ทำขึ้นระหว่างกระทรวงการคลังกับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด