วันนี้ (4 มกราคม 2567) ภายหลังมีการเผยแพร่หนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 0401.3/12930 จากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ถึงพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เรื่อง การขอรับโอนข้าราชการตำรวจ โดยโอนพล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
ต่อมานพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีลงนามในหนังสือดังกล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย เนื่องจากเห็นความเหมาะสมในตัวพล.ต.อ.รอย จึงขอรับโอนมา ยอมรับว่า ก่อนทาบทาม พล.ต.อ.รอย มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช.นั้น ได้มีการหารือกับ สมช. และทุกส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่มีฝ่ายคัดค้าน จึงได้มีการออกหนังสือขอรับโอนพล.ต.อ.รอย มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมช.
นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า ในกระบวนการดังกล่าวนี้ ผบ.ตร.จะต้องรับทราบ และหากไม่ขัดข้อง จะต้องมีหนังสือให้คำตอบกลับมาเช่นกัน จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการเสนอต่อที่ประชุม สมช. หาก สมช.เห็นชอบ จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งต่อไป
ล่าสุด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงขั้นตอนการแต่งตั้งเลขาธิการ สมช. ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งจะต้องขอไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้โอนย้ายมา เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอน การประชุม ครม. ในวันที่ 9 ม.ค. ที่จะถึงนี้ จึงไม่น่าจะทัน ไม่แน่ใจว่าเรื่องอาจจะเข้าในการประชุม ครม. ครั้งถัดไป
นายเศรษฐากล่าวว่า ได้มีการพูดคุยทำความเข้าใจกับข้าราชการภายในสำนักงาน สมช. แล้ว ไม่มีกระแสต่อต้านจากลูกหม้อ รวมถึงข้าราชการประจำ มีการพูดคุยกันรู้เรื่อง เรียบร้อยหมดแล้ว
ข้าราชการฝ่ายปฏิบัติการในสมช. เปิดใจว่า ข้าราชการฝ่ายปฏิบัติใน สมช.ทุกคนเป็นมืออาชีพ สามารถทำงานได้กับทุกรัฐบาล ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของหน่วยงานในสำนักนายกรัฐมนตรี ที่หัวหน้าส่วนราชการไม่ได้มาจากลูกหม้อโดยตรง เช่น สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ซึ่งที่ผ่านมามีคนในเพียง 2 คน ที่มาเป็นเลขาธิการครม. ซึ่ง3 ตำแหน่งหลัก ๆ (เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เลขาฯครม. เลขาฯ สมช.) นี้จะแตกต่างจากตำแหน่งอื่น เพราะตามหลักการบริหารโดยทั่วไปควรจะเป็นตำแหน่งทางการเมือง แต่ด้วยระบบราชการไทยให้อำนาจข้าราชการมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐฯ ที่ปรึกด้านความมั่นคง ญี่ปุ่น เลขาฯครม.เป็นฝ่ายการเมือง เป็นคนใกล้ชิดนายกฯ นายกฯ จึงมีสิทธิที่จะเลือกคนที่จะมาทำงานด้วย
“ใครมา (เป็นเลขาฯสมช.) ก็ทำงานได้กับทุกคน เพราะข้าราชการฝ่ายปฏิบัติการ ใครมาก็ไม่ต่างกัน ไม่ได้ลำบากใจ เพราะทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่าจะเป็นอย่าง”ข้าราชการฝ่ายปฏิบัติการในสมช.ทิ้งท้ายอย่างชินชา