นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) อดีตปลัดคลัง กล่าวถึง การจัดทำงบประมาณปี 2567 ของรัฐบาล ว่า รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ เพราะมีเวลาในการมาดูแลงบจำกัด ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ฟังดูแล้วไม่สมเหตุสมผลมากนัก เนื่องจากโดยหลักการ เวลาที่ผ่านมา 100 กว่าวันจะสังเกตเห็นว่า รัฐบาลขยันทำงานมากแต่ไม่ได้ให้เวลาเพียงพอในการดูแลงบประมาณ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในการบริหารประเทศ
ทั้งนี้ เมื่อมองในภาพรวม นอกจากรัฐบาลจะไม่ได้นำนโยบายสำคัญๆ มาบรรจุในงบประมาณแล้ว ยังไม่ได้มองในระยะปานกลางหรือยาว ที่จะทำให้ประเทศไทยพัฒนาขึ้นกว่าเดิม เพราะเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศไทย คือต้องการให้ประเทศไทย ขยับสถานะสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือหลายคนใช้คำว่า “พ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง”
ซึ่งหมายความว่า "ณ เวลานั้น ประเทศไทยจะต้องเติบโตพัฒนาอย่างน้อยร้อยละ 5 ต่อปี ถึงจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ในปีพ.ศ. 2580 แต่จากการคาดการณ์งบประมาณปานกลางของรัฐบาล ปรากฏว่ายังไม่ถึงร้อยละ5 ต่อปี แม้ในรายจ่ายงบประมาณจะมีการกำหนดไว้ว่า จะทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องไปอีกประมาณร้อยละ 3.4 ต่อปีไปจนถึงปี2570 ก็ตาม แต่ไม่ได้แสดงนัยยะอะไรที่ให้เห็นว่า การทำงบประมาณเหล่านั้นจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ จะสร้างความ เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้โตได้ถึงร้อยละ 5 เพื่อเป็นพื้นฐานในการนำไปสู่ยุทธศาสตร์ของการทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่สถานะประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะงบการลงทุนมีเพียงร้อยละ 20.6 เท่านั้น”
การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ควรให้งบประมาณกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีรายได้น้อย มากกว่าให้งบประมาณกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีรายได้ดีอยู่แล้ว
นายสถิตย์ยังกล่าวด้วยว่า งบประมาณส่วนใหญ่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนหนทางเป็นหลัก แต่เรื่องอื่นๆที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาประเทศก็สำคัญเช่นเดียวกัน ฉะนั้น ควรสร้างความสมดุลของโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อทำให้ประเทศพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจในอนาคตข้างหน้าด้วยระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ เพิ่มเติมจากระบบปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังเห็นว่า อีกงบที่น่าสังเกต คืองบการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ที่ควรให้งบประมาณกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีรายได้น้อยมากกว่าให้งบประมาณกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีรายได้ดีอยู่แล้ว และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีรายได้ดีอยู่แล้วหาทางจัดเก็บรายได้ของตนเองให้มากขึ้น หากโครงสร้างของงบประมาณยังเป็นอย่างนี้การปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่เต็มศักยภาพ การกระจายไปสู่ท้องถิ่นที่ยากจนก็เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น โครงสร้างจึงต้องรื้อกันขนานใหญ่ เพื่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ