ช่วง 3 สัปดาห์ก่อนสิ้นเดือน ม.ค. 2567 “ศาลรัฐธรรมนูญ” จะมีการลงมติตัดสิน 3 คดีดังที่อยู่ในความสนใจของคอการเมือง ซึ่งจะมีผลต่ออนาคตทางการเมืองของ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตรมว.คมนาคม ส.ส.บัญชีรายชื่อและ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย มีผลต่ออนาคตของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ พรรคก้าวไกล
17 ม.ค.ชี้ชะตา"ศักดิ์สยาม"
คดีแรก วันพุธที่ 17 ม.ค. 2567 เวลา 14.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดตัดสินกรณี ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน 54 คน ร้องเรียน “ศักดิ์สยาม” ว่า ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ทำให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้น หรือ กิจการของห้างหุ้นส่วน เป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 ประกอบพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี 2543 มาตรา 4(1) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญได้ไต่สวนพยานในคดีนี้รวม 6 ปาก ประกอบด้วย นางวราภรณ์ เทศเซ็น, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ, นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ, น.ส.วรางสิริ ระกิติ, น.ส.ฐิติมา เกลาพิมาย และ น.ส.อัญชลี ปรุดรัมย์
คดี “ศักดิ์สยาม” ถือหุ้นห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญฯ ทางส.ส.ฝ่ายค้าน ได้ยื่นคำร้อง เมื่อ 7 ก.พ. 2566 และศาลรธน.ได้รับคำร้อง และสั่งให้ ศักดิ์สยาม ยุติการทำหน้าที่รัฐมนตรี ตั้งแต่ 3 มี.ค. 2566
ศาลรธน.ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาและรวบรวมพยานหลักฐาน จำนวน 48 ครั้ง ก่อนไต่สวนพยาน และ กำหนดนัดวันวินิจฉัยออกมา
คดีนี้มีแนวโน้มที่ศาลอาจจะตัดสินให้ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” มีความผิด...
24 ม.ค.ตัดสิน“พิธา”ถือหุ้นสื่อ
ถัดไป วันพุธที่ 24 ม.ค. 2567 เวลา 14.00 น. เช่นเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดตัดสิน กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพ ส.ส. พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่ จากกรณีเป็นผู้ถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ
ทั้งนี้ เมื่อ 20 ธ.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ไต่สวนพยาน 3 ปาก ประกอบด้วย นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ถูกร้อง และ นายคิมห์ สิริทวีชัย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด ผู้ทำหน้าที่เป็นประธานประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี และ ลงนามบันทึกการประชุม
ก่อนหน้านั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งรับคำร้องไว้พิจารณา และสั่งให้ นายพิธา ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. นับแต่วันที่ 19 ก.ค. 2566 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
คดีนี้ 50 : 50 ยังต้องลุ้นว่า “พิธา” จะ “รอด” หรือ “ร่วง”
สมมติศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีความ “ผิด” พิธา ก็จะพ้นจากการเป็น ส.ส. และมี “ดาบสอง” ตามมา นั่นคือ กกต.สามารถนำคำวินิจฉัยไปยื่นฟ้อง พิธา ในคดีอาญาได้ตาม มาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งมีบทลงโทษคือ จำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับ 20,000- 200,000 บาท และ ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นกำหนด 20 ปี
คดีนี้เป็นความผิดเฉพาะตัว คงไม่ลามถึงขั้นเอาผิด “ยุบพรรค” ได้
31 ม.ค. ปิดฉากคดี ม.112
ปิดท้ายที่คดี ม.112 โดยในวันพุธที่ 31 ม.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดตัดสินคดีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า การกระทำของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ขณะนั้น) และ พรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญได้ไต่สวนพยาน 2 ปาก คือ พิธา และ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล คนปัจจุบัน
คดีนี้ ผู้ร้องไม่ได้ขอศาลให้สั่ง “ยุบพรรค” ขอเพียงว่าให้หยุดการกระทำเท่านั้น ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็จะวินิจฉัยตามคำร้องเท่านั้น
ดังนั้น คดีนี้หากศาลชี้เป็นความผิด ก็คงจะสั่งให้หยุดการกระทำเท่านั้น ซึ่งจะไม่ลามไปถึงยุบพรรค และเคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แนว ๆ เดียวกันไว้แล้ว
ทั้ง 3 คดีการเมืองดังกล่าว จะ “ปิดฉาก” ลงภายในเดือน ม.ค.นี้ โดย “ศาลรัฐธรรมนูญ” จะเป็นผู้ให้คำตอบ...