การประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งเดิมกำหนดนัดประชุมในวันที่ 16 ม.ค. 2567 แต่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ รักษาการประธานบอร์ด และรักษาการนายกรัฐมนตรี ได้แจ้งขอเลื่อนออกไปก่อน เพื่อรอหนังสือจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ต่อมามีรายงานว่า ป.ป.ช.ได้ทำหนังสือเป็นข้อสังเกต และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลในเรื่องดังกล่าว
ศก.ไม่เข้าข่ายวิกฤต
ข้อสังเกต ป.ป.ช. สรุปได้ว่า จากคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 และจากคำแถลงของนายกฯ เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2566 ซึ่งได้กล่าวย้ำว่า นโยบายดังกล่าวมิใช่เป็นการสงเคราะห์ประชาชนผู้ยากไร้ แต่เป็นการเติมเงินลงในระบบเศรษฐกิจผ่านสิทธิการใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทร่วมกับรัฐบาลในการผลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น จึงต้องมีการพิจารณาว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน มีความจำเป็นต้องกระตุ้นเพียงใด
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากข้อมูล ข้อเท็จจริง ตลอดจนตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจต่าง ๆ จะพบว่า มีการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทย ในปี 2566 ไปในทิศทางเดียวกัน โดยข้อมูลของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ในปี 2566 จะขยายตัวอยู่ที่ 2.5% ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 2.4% โดยในระยะปานกลางจะมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 3.3%
ข้อมูลจากหลายหน่วยงาน อาทิ ธปท. สภาพัฒน์ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง รวมทั้งจากนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ อาจารย์มหาวิทยาลัย มีการวิเคราะห์สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันว่า “ไม่เข้าข่ายวิกฤต” และยังไม่เห็นสัญญาณวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศไทย
ผลกระทบภาระการคลัง
ขณะเดียวกันจากข้อมูลของสำนักงบประมาณของรัฐสภาได้มีการประเมินผลกระทบทางการคลัง ที่สำคัญของโครงการเติมเงินดิจิทัล อาทิ
หากต้องใช้งบประมาณสำหรับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท อาจต้องปรับลดงบประมาณ หรือ งบลงทุนของหน่วยงาน ซึ่งย่อมกระทบต่อหน่วยงานอื่น โดยเฉพาะเรื่องระยะเวลาการดำเนินการที่อาจต้องเลื่อนออกไป อาทิ งานก่อสร้างที่อาจจะต้องมีการขยายระยะเวลา ซึ่งกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐ
อีกทั้งเมื่อพิจารณาบทวิเคราะห์ของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่าง ๆ ต่อเศรษฐกิจไทย อาทิ Moody’s S&P Global Ratings และ Fitch Ratings พบว่าส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ที่อาจเพิ่มสูงขึ้น
ดังนั้น การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะสมดุล จะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและมีความจำเป็นเพียงใด ตลอดจนผลกระทบ และภาระทางการเงิน การคลังในอนาคต
ข้อสังเกตป.ป.ช.
ทั้งนี้รายงานของ ป.ป.ช. ประมวลเป็นข้อสังเกตได้ดังนี้ 1.เสี่ยงทุจริตเชิงนโยบาย 2.นโยบายหาเสียงกับแถลงต่อรัฐสภาแตกต่างกัน 3.เป็นการหาเสียงที่ไม่มีความพร้อม ไม่พิจารณาอย่างรอบคอบ 4.อาจขัดพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 5.เสี่ยงเอื้อประโยชน์ต่อบุคคล-กลุ่มบุคคล โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่
6.เสี่ยงกระทบต่อภาระทางการเงินการคลัง 7.เสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญ ม. 71 และ 75 8.เสียงขัดพรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ม.53 9.ต้องรักษาวินัยการเงินการคลัง ตามรัฐธรรมนูญ ม. 140 10.สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันยังไม่เข้าข่ายวิกฤต 11.เงินดิจิทัลแจกครั้งเดียว ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน
ข้อเสนอ ป.ป.ช.
ส่วนข้อเสนอของ ป.ป.ช. ประมวลได้ อาทิ 1.ต้องกระจายการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทั่วถึง 2.กกต.ควรตรวจสอบเพื่อเป็นบรรทัดฐาน 3.ต้องคำนึงความคุ้มค่า ความจำเป็น 4.ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย 5.กำหนดมาตรการบริหารความเสี่ยงและป้องกันทุจริต 6.ควรพิจารณาช่วยกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน 7. การใช้ "เป๋าตัง" จะเป็นประโยชน์และเหมาะสมกว่า Blockchain
แนะฟังความเห็นป.ป.ช.
ขณะที่ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงข้อเสนอ ป.ป.ช.ว่า ยังไม่เห็นรายงานดังกล่าว อย่างไรก็ตามหน่วยงานใดเสนอแนะมา รัฐบาลก็ควรจะฟังประกอบการพิจารณาเพื่อให้เกิดความรอบคอบ
“ในแง่ของ (ป.ป.ช.) การเป็นองค์กรอิสระ เมื่อมีข้อสังเกตมาประกอบการพิจารณา ก็ควรจะเอามาประกอบการพิจารณาด้วย” นายปกรณ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีหน่วยงานใดหรือไม่ที่ต้องคำนึงยึดถือไว้เป็นหลัก นายปกรณ์ กล่าวว่า หากเป็นตัวเลขเศรษฐกิจจะประกอบด้วย สภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย
“หลักคือ รับฟังความคิดเห็นเพื่อมาประกอบการตัดสินใจ ยิ่งได้รับข้อมูลมาก จะทำให้เกิดความละเอียดรอบคอบมากยิ่งขึ้น” นายปกรณ์ กล่าว
ส่อล้มกู้เงิน 5 แสนล.
ก่อนหน้านั้น แหล่งข่าวระดับสูงจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า “รัฐบาลรู้ตั้งแต่เห็นหนังสือตอบกลับจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วว่า ไปต่อยาก แต่ต้องทอดเวลาไว้ เพื่อให้นายกฯ ได้หายใจ และเกิดความชอบธรรม ที่จะยุติการกู้เงิน และมีที่พิงหลัง
อย่างผลสรุปของ ป.ป.ช. ที่จะเป็นทั้งตัวสแตมป์ และที่พิงอย่างดี เพราะหากยังยืนยันจะเดินหน้าออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ก็ยังมีด่าน ป.ป.ช. และ ศาลรัฐธรรมนูญอีก ที่รัฐบาลยังต้องเผชิญ”
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า รัฐบาลยืนยันที่จะเดินหน้าโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 ต่อไป ซึ่งเมื่อได้รับรายงานจากคณะอนุฯ ตามที่มอบหมายแล้ว บอร์ดชุดใหญ่ก็จะมีมติยกเลิกการออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท แต่จะใช้วิธีการบริหารงบประมาณแทน โดยจะใช้วิธีตั้งงบประมาณในปีงบประมาณ 2568 แทน ซึ่งจะมีการจัดทำในเดือน พ.ค. 2567 และจะลดวงเงินเหลือไม่เกิน 3 แสนล้านบาท
นำข้อเสนอปปช.เข้าบอร์ด
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า จะนำข้อเสนอของ ป.ป.ช. เข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดดิจิทัลชุดใหญ่ พร้อมกับหนังสือตอบกลับข้อกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปในคราวเดียวทันที ไม่ต้องประชุมหลายครั้ง
“ทุกคนมีน้ำหนักเท่ากัน รับฟัง ภายใต้เงื่อนไขของวัตถุประสงค์ของโครงการฯ และต้องมีคำตอบให้กับประชาชน เนื่องจากเป็นนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา”
นายภูมิธรรม กล่าวว่า ทุกเรื่องคิดว่าหลังครม.สัญจรที่จังหวัดระนอง ในวันที่ 22 ม.ค.นี้ ก็เอาเรื่องเข้า รวมถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“กลไกรัฐบาลเดิม วิธีการเดิม เรายังไม่เห็นว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น เราเสนอสิ่งใหม่แล้วมาดูว่าจะต้องปรับปรุงแก้ไขอะไร เพื่อให้เดินหน้าได้”
เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวว่าหากพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านออกไปไม่ได้ จะใช้งบประมาณปี 2568 เป็นแผนสำรองใช่หรือไม่ นายภูมิธรรม ตอบว่า กรอบใหญ่คิดไว้แล้ว รอให้เหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนว่าเป็นอย่างไร และแก้จากความเป็นจริงดีกว่า เราคิดไว้แล้วว่าจะทำอะไรอย่างไร
"เรายืนยันว่าจะเดินหน้าโครงการนี้ ส่วนจะได้อะไรขึ้นอยู่กับข้อจำกัดและข้อเสนอของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ถ้าเป็นเรื่องของกฎหมายจะต้องปฏิบัติ เราก็คงจะเอามาปรับใช้" นายภูมิธรรม กล่าวและว่า ส่วนไทม์ไลน์จะยืดออกไปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเป็นจริงที่ได้รับ ถ้าไปไม่ได้แล้วไทม์ไลน์ต้องยืดออกไปก็ต้องยืด แต่ตอนนี้ยังวางไทม์ไลน์ไว้อย่างเดิม
คงเงินดิจิทัล 5 แสนล.
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวถึงกระแสข่าวรัฐบาลอาจลดขนาดโครงการแจกเงินดิจิทัลลงว่า ตนได้เห็นสื่อนำเสนอข่าวเช่นกันว่า จะลดขนาดจาก 5 แสนเหลือ 3 แสนล้านบาท และใช้งบปกติ ซึ่งยืนยันว่าทุกครั้งที่มีการประชุม ตนอยู่ทุกชุดของคณะกรรมการ ไม่มีประเด็นนี้ ไม่เคยมีเรื่อง 3 แสนล้านบาท และไม่ทราบว่าข่าวนี้มาจากไหน
ข้อสังเกตและข้อเสนอของป.ป.ช.ต่อนโยบายเงินดิจิทัล ที่ออกมาจะนำไปสู่การยกเลิกออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท และ ลดขนาดการแจกเงินลงหรือไม่ มาจับตาดูกัน...