รายงานพิเศษ : “พิธา”รอด คดีถือหุ้นสื่อ คัมแบ็กหัวหน้าก้าวไกล

24 ม.ค. 2567 | 02:30 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ม.ค. 2567 | 08:26 น.

“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” “รอด” คดีถือหุ้นสื่อไอทีวี คำวินิจฉัยศาลรธน. “เป็นคุณ” เตรียมคัมแบ็กหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในเดือนเมษายน โยก “ชัยธวัช” นั่งเลขาธิการพรรคตามเดิม

KEY

POINTS

  • ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ พิธา ไม่มีความผิด เนื่องจาก“ไอทีวี” ไม่ใช่สื่อมวลชน เขาจะกลับมาปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ได้ต่อ
  • เมื่อ พิธา กลับมาปฏิบัติหน้าที่แล้ว สเต๊ปต่อไปเขาจะกลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกลอีกครั้ง
  • เมื่อ พิธา ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง จะเสนอให้ ชัยธวัช ตุลาธน กลับมาปฏิบัติหน้าที่เลขาฯ พรรคอีกครั้ง
     

วันพุธที่ 24 ม.ค. 2567 เวลา 14.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญ นัดตัดสินกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่ จากกรณีเป็นผู้ถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือ สื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

สำหรับคดีนี้ เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ไต่สวนพยาน 3 ปาก ประกอบด้วย แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ถูกร้อง และ คิมห์ สิริทวีชัย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด ผู้ทำหน้าที่เป็นประธานประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี และ ลงนามบันทึกการประชุม

ก่อนหน้านั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งรับคำร้องไว้พิจารณา และสั่งให้ พิธา ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. นับแต่วันที่ 19 ก.ค. 2566 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

คดีนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พิธา มีความผิด ก็จะพ้นจากการเป็น ส.ส. และมี “ดาบสอง” ตามมา นั่นคือ กกต.สามารถนำคำวินิจฉัยไปยื่นฟ้อง พิธา ในคดีอาญาได้ตาม มาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งมีบทลงโทษคือ จำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับ 20,000- 200,000 บาท และ ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นกำหนด 20 ปี

ในทางกลับกัน หากศาลวินิจฉัยว่า ไม่มีความผิด พิธา ก็สามารถกลับมาปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ได้ต่อไป


ล่าสุด วันที่ 24 ม.ค. 2568 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส. ของ พิธา ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) เนื่องจากในวันที่ 4 เม.ย. 2566 ซึ่งเป็นวันที่พรรคก้าวไกลยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. แม้นายพิธา จะเป็นผู้ถือหุ้น 42,000 หุ้น แต่ในวันดังกล่าวบริษัท ไอทีวี จำกัด มหาชน ได้สิ้นสภาพความเป็นสื่อไปก่อนแล้ว นับตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. 2550 ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้บอกเลิกสัญญา

+รอคัมแบ็กหัวหน้าก้าวไกล 

นายพิธา เคยให้สัมภาษณ์พิเศษผ่านรายการ "เนชั่นสุดสัปดาห์กับ 3 บก." ดำเนินรายการโดย สมชาย มีเสน วีระศักดิ์ พงษ์อักษร และ บากบั่น บุญเลิศ 3 บรรณาธิการบริหารเครือเนชั่น เผยแพร่ทางเนชั่นทีวี ช่อง 22 ก่อนหน้านี้ ในประเด็นถือหุ้นสื่อ ว่า “หากศาลตัดสินออกมาเป็นคุณ จะทำหน้าที่ต่อในสภาฯ ถ้าเป็นโทษ ยังทำหน้าที่ต่อ แต่ไปทำงานนอกสภาฯ” 

เมื่อถามว่าหากถูกตัดสินไม่ผิด จะกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลอีกครั้งหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า “แล้วแต่สมาชิกพรรคที่จะมีการประชุมใหญ่ช่วงปลายเดือน เม.ย.” 

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ พิธา ไม่มีความผิด พิธา จะกลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกลอีกครั้ง หลังจากลาออกไปเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2566 และได้ผลักดัน ชัยธวัช ตุลาธน ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคแทน 

โดยเมื่อ พิธา ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็จะแต่งตั้งให้ ชัยธวัช กลับมาทำหน้าที่เลขาธิการพรรคอีกครั้ง

                          พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ส่องเหตุผล“พิธา”ส่อรอดคดีหุ้น 

สำหรับคดี พิธา เป็นผู้ถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ที่ถูกกล่าวหาว่าประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือ สื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อนั้น ก็มีโอกาสเหมือนกันที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” จะตัดสินให้ พิธา ไม่มีความผิด หากมองว่า “ไอทีวี” ไม่ใช่สื่อมวลชน ไม่ด้วยเหตุผลใดก็เหตุผลหนึ่งดังนี้ 

1. ไม่มีใบอนุญาตคลื่นความถี่ เนื่องจากไอทีวีถูกรัฐบาลไทยแจ้งยกเลิกสัญญาตั้งแต่ ปี 2550 

2. ภายหลังมีการออก พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ก่อให้เกิด “สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส” ทำให้ไอทีวีต้องเลิกประกอบกิจการ และมีคดีพิพาทค่าเสียหายกับรัฐบาลในศาลปกครอง   

3. คิมห์ สิริทวีชัย ประธานการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ยืนยันต่อศาลว่า ไอทีวีไม่มีพนักงาน ไม่มีรายได้จากการทำสื่อ ไม่มีการทำสื่อ และยังไม่มีแผนจะทำสื่อ  

4. ถ้ายึดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้า ก็ไม่น่าเป็นห่วง เพราะศาลเคยเห็นว่าหากไม่มีรายได้ จากการทำสื่อก็ไม่ถือเป็นสื่อ 

5. ไม่มีหลักฐานจดแจ้งการพิมพ์ จึงไม่อาจเป็นผู้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นได้  

6. ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการภาพยนตร์ วีดิทัศน์ และสื่อโฆษณา จึงไม่อาจประกอบกิจการได้ 

7. ศาลปกกครองสูงสุดเคยวินิจฉัยว่า ไอทีวี ไม่ปรากฏหลักฐานการทำสื่อวิทยุโทรทัศน์แล้ว 

8.นายพิธา มีหลักฐานว่า ไม่ได้ครอบครองหุ้นตั้งแต่วันสมัคร ส.ส. คือ ตั้งแต่ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ตอนเป็น ส.ส.ปี 2562 นายพิธาแจ้งชัดเจนว่า ถือหุ้นดังกล่าว ในฐานะผู้จัดการมรดกจากพ่อที่เสียชีวิต 

9.หากศาลวินิจฉัยว่าถือหุ้นสื่อจริง หุ้นก็มีสัดส่วนเพียง 0.00348% เท่านั้น ไม่สามารถครอบงำ สั่งการ ให้ทำการใดๆ ได้

คดี“พิธา”เทียบ“ชาญชัย” 

คดีในลักษณะเดียวกันกับ พิธา เคยมีกรณีที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้คืนสิทธิการลงสมัคร ส.ส. ให้แก่ ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กรณีถือหุ้น บริษัท แอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS จำนวน 200 หุ้น จากหุ้นสามัญทั้งหมด 2,974 ล้านหุ้น 

โดยศาลชี้ว่า มีสัดส่วนน้อยมาก ไม่สามารถไปครอบงำ หรือ สั่งการให้บริษัทในเครือที่ประกอบธุรกิจสื่อ เผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง หรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมืองอื่นได้ 

หากนำแนววินิจฉัยของศาลฎีกาในคดีถือหุ้นของ ชาญชัย มาเทียบเคียงกับกรณี พิธาถือหุ้นสื่อไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้น จากจำนวนหุ้นทั้งหมด 1,560 ล้านหุ้น พิธา ก็อาจไม่มีความผิดก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับ “ศาลรัฐธรรมนูญ” จะวินิจฉัย

ข้อสังเกตจากคดี“วุฒิพร”

นายวุฒิพร เดี่ยวพานิช ถูกตัดชื่อออกจาก "การสรรหาซูเปอร์บอร์ด กสทช.” อันเนื่องจากมีลักษณะต้องห้าม เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพราะถือหุ้นและเป็นกรรมการบริษัท ไอทีวี  
นายวุฒิพร ได้ร้องขอความเป็นธรรมกับศาลปกครองสูงสุด และศาลวินิจฉัยว่า

1. การที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีหนังสือด่วนที่สุด เมื่อ 7 มี.ค. 2550 แจ้งบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ ระบบ ยู เอช เอฟ กับ ไอทีวี พร้อมทั้งให้คืนทรัพย์สินทั้งหมด ไอทีวีจึงไม่สามารถดำเนินกิจการได้ เนื่องจากไม่มีคลื่นความถี่ เพราะการประกอบธุรกิจต้องขออนุญาตจาก กสทช. และบริษัทไม่ได้ดำเนินธุรกิจใดๆ มาตั้งแต่ปี 2552

2. คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ วุฒิพร อันเนื่องมาจากบริษัท ไอทีวี ประกอบกิจการสถานีวิทยุ โทรทัศน์นั้น ยังไม่ปรากฏหลักฐานอื่นใดที่แสดงว่า ไอทีวี เป็นผู้ประกอบธุรกิจ กิจการโทรทัศน์ หรือ กิจการโทรคมนาคม ในระยะ 1 ปี ก่อนสมัครเข้ารับการสรรหาซูเปอร์บอร์ด กสทช.

3. การที่ตัดชื่อ วุฒิพร ออกจากผู้สมัครเข้ารับ “การสรรหาซูเปอร์บอร์ด กสทช.” โดยพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะเฉพาะตามวัตถุประสงค์ของไอทีวี จึงไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย จึงมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของ “คณะกรรมการสรรหา” โดยให้รับเป็นผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกฯ

นิยาม“สื่อมวลชน” 

ขณะที่ ผศ.กัญภัส อู่ตะเกา คณบดีวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้ให้นิยามคำว่า “สื่อมวลชน” ตามหลักวิชาการ หมายถึง “สื่อกลางที่นำสาร และเนื้อหาสาระทุกประเภทไปสู่มวลชน หรือ กลุ่มคนจำนวนมากไม่ว่ารูปแบบใด สื่อดั้งเดิมมี เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ ปัจจุบันรวมถึงสื่อใหม่ หรือ สื่อออนไลน์ด้วย เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ หรือ แอปพลิเคชันต่าง ๆ 

หากบุคคล นิติบุคคล หรือ องค์กรใดเป็นสื่อกลางในการนำข่าวสาร หรือ เนื้อหาไปยังผู้คนจำนวนมากได้ หรือ ถือครองสื่อที่เป็นช่องทางการสื่อสาร หรือ ผลิตเนื้อหาไปยังผู้คนจำนวนมาก และผู้คนจำนวนมากสามารถรับสารนั้นได้ ถือเป็นสื่อมวลชน”

24 ม.ค. 2567 ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” จะชี้ชะตา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หากศาลตัดสินว่าไม่มีความผิด เขาจะคัมแบ็กหัวหน้าพรรคก้าวไกลแน่นอน