ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ พรรคก้าวไกล โดยส.ส.จำนวน 44 คน ที่เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ.. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งให้เลิกการกระทำนั้น
ผลกระทบที่จะตามมาคือ จะมีผู้นำพฤติการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ไปยื่นต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง (เลขาธิการ กกต.) และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพื่อเอาผิดพรรคก้าวไกล ฐานกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 92 (2) พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง
โดยกกต.ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่ง "ยุบพรรค" และ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล
นอกจากนี้ ยังอาจมีผู้นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไปยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเอาผิดจริยธรรมร้ายแรง นายพิธา และ ส.ส.พรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน ที่ยื่นร่างแก้ไขกฎหมายด้วย