วันนี้ (31 ม.ค. 67) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติวินิจฉัยว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในขณะนั้น ในฐานะผู้ถูกร้องที่1 พรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และมีคำสั่งให้พรรคก้าวไกล และนายพิธา เลิกการกระทำดังกล่าว
ทั้งนี้ศาลระบุเหตุผลว่า การที่นายพิธา และพรรคก้าวไกลแก้ไขเพิ่มประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกถึงการลดทอนความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์โดยซ่อนเร้นด้วยวิธีการหาทางรัฐสภา
และการใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง พร้อมกับมีการรณรงค์การแก้ไขอย่างต่อเนื่อง เพื่อหวังผลคะแนนเสียงทางการเมือง แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายให้สถาบันอยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน
การเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าวและการใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงจึงแสดงถึงเจตนาเซาะกร่อน บ่อนทำลายทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เกิดความทรุดโทรม เสื่อมทราม ซึ่งสามารถนำไปสู่การการล้มล้างการปกครองได้
ดังนั้น หากยอมให้บุคคลทั้งสองดำเนินการต่อไปก็ไม่ไกลที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองได้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำดังกล่าว และเลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การโฆษณา การสื่อความหมายอื่นเพื่อให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยกระบวนการนิติบัญญัติที่โดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มติของศาลรัฐธรรมนูดังกล่าวเป็นมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง
และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 74
สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ได้เข้าร่วมลงมติในคดีนี้ 9 คน ประกอบด้วย
นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรม
ตุลาการรัฐธรรมนูญ ได้แก่
นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์
นายปัญญา อุดชาชน
นายจิรนิติ หะวานนท์
นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
นายนภดล เทพพิทักษ์
นายอุดม รัฐอมฤต
นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม
นายวิรุฬห์ แสงเทียน