เปิดความหมาย ก้าวไกล"เซาะกร่อน-บ่อนทำลาย" ในคำวินิจฉัยศาลรธน.

31 ม.ค. 2567 | 11:25 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ม.ค. 2567 | 12:09 น.

นิยาม ความหมายของคำว่า "เซาะกร่อน-บ่อนทำลาย" จุดตาย "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์-พรรคก้าวไกล" หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยพฤติกรรมชัดเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง  

จากกรณีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ.... . เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่นั้น 

โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า การกระทําของผู้ถูกร้องทั้งสองเป็นการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

เปิดความหมาย ก้าวไกล\"เซาะกร่อน-บ่อนทำลาย\" ในคำวินิจฉัยศาลรธน.

อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้น ต่อไปในอนาคตด้วยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 74

หากได้นั่งฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ตั้งแต่ต้นจนจบจะพบว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเน้นย้ำเป็นระยะ ๆ โดยชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้ถูกร้องทั้งสองว่า เป็นการกระทำการเซาะกร่อน บ่อนทำลายสถาบัน เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม เข้าลักษณะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข   
 
ดังเช่น ในคำวินิจฉัยตอนหนึ่งที่ระบุว่า

...การที่ผู้ถูกร้องเสนอให้ความผิด มาตรา 112 ยอมความได้ โดยเพิ่มความในมาตรา 135/9 วรรคหนึ่งว่า เป็นความผิดยอมความได้ และวรรคสอง ให้สำนักพระราชวังร้องทุกข์ และถือว่า เป็นผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติพระมหากษัตริย์นั้น และให้สำนักพระราชวัง ในฐานะผู้เสียหายร้องทุกข์ 

มุ่งหมายให้การกระทำผิดตามมาตรา 112 กลายเป็นความผิดในเรื่องส่วนพระองค์ของสถาบันฯ เป็นการลดสถานะความคุ้มครองของสถาบันฯ ให้รัฐไม่ต้องเป็นผู้เสียหายในเรื่องดังกล่าวโดยตรง และให้สถาบันฯ เป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน และจะเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ส่งผลให้การกระทำผิด มาตรา 112 ไม่ใช่การกระทำผิดที่กระทบต่อชาติ และประชาชน

ทั้งที่การกระทำผิดดังกล่าว ย่อมเป็นการทำร้ายจิตใจของชนชาวไทย ที่มีความเคารพสถาบันฯ เพราะทรงเป็นประมุข และศูนย์รวมความเป็นชาติ ที่รัฐต้องคุ้มครอง และรัฐต้องเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา..." 

...การที่ผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอแก้ไขมาตรา 112 เพื่อลดสถานะของสถาบันฯ เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้นโยบายพรรคโดยนำสถาบันฯ หวังผลคะแนนเสียง และประโยชน์ในการชนะเลือกตั้ง

มุ่งหมายให้สถาบันฯ อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน ทำให้สถาบันฯ เป็นฝักใฝ่ ต่อสู้ แข่งขัน หรือรณรงค์ทางการเมือง อันอาจนำมาซึ่งการโจมตี ติเตือน ไม่คำนึงหลักการพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีหลักสำคัญว่า พระมหากษัตริย์ต้องดำรงฐานะอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมือง

นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร

การที่ผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอแก้ไข มาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรคหาเสียงเลือกตั้งดังกล่าว มีเจตนา เซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันฯ เป็นเหตุให้สถาบันฯ ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง เป็นเหตุให้นำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องทั้ง 2 ฟังไม่ขึ้น" 

คำวินิจฉัยของศาลยังได้ระบุอีกว่า ...พฤติการณ์หรือเข้าร่วมการชุมนุมที่รณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 หรือเป็นหลักประกันให้ผู้ต้องหา หรือจำเลยในข้อหาตาม มาตรา 112 หรือเป็นผู้กระทำผิดในข้อหาดังกล่าวเสียเอง แสดงให้เห็นว่า พรรคก้าวไกล เป็นกลุ่มการเมืองมีอุดมการณ์เปลี่ยนแปลงแก้ไข ยกเลิกบทบัญญัติกฎหมายที่คุ้มครองสถาบันฯ 

โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2666 พรรคก้าวไกล จัดกิจกรรมปราศรัยใหญ่ ณ สวนสาธารณะ เทศบาลนครแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดย น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ ขึ้นเวทีปราศรัย เชิญชวนผู้ถูกร้องที่ 1 และว่าที่ผู้สมัคร สส.พรรคก้าวไกล ร่วมกิจกรรม "คุณคิดว่า มาตรา 112 ควรยกเลิกหรือแก้ไข" โดยผู้ถูกร้องที่ 1 นำสติกเกอร์สีแดงปิดลงในช่องยกเลิกมาตรา 112 

เปิดความหมาย ก้าวไกล\"เซาะกร่อน-บ่อนทำลาย\" ในคำวินิจฉัยศาลรธน.

แม้ผู้ถูกร้องที่ 1 โต้แย้ง เบิกความว่า เป็นเพียงการแสดงออกเพื่อโน้มน้าวให้ผู้ตั้งกระทู้ และผู้ฟังปราศรัยทั่วไป สงบสติอารมณ์ก่อนปราศรัยเหตุผลสมควรแก้ไขมาตรา 112 หรือไม่ และเป็นการบริหารสถานการณ์ไม่ให้เกิดความรุนแรงนั้น 

แต่ข้อเท็จจริงปรากฏในหนังสือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)ว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ปราศรัยความตอนหนึ่งว่า "พี่น้องประชาชน เสนอกฎหมายยกเลิก ม.112 เข้ามา พรรคก้าวไกลจะสนับสนุนเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นต้องขอโทษน้องทั้ง 2 คน พี่ต้องแก้ไข ม.112 ในสภาฯ ก่อน ถ้ายังไม่ได้แก้ ก้าวไกลจะออกไปสู้ด้วยกันครับ" 

แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของผู้ถูกร้องที่ 1 อันเป็นหัวหน้าพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ขณะนั้นสนับสนุนการยกเลิกมาตรา 112 ทำให้บทบัญญัติในการคุ้มครองสถาบันฯหมดสิ้นไป เพราะหากไม่ได้รับการแก้ไขภายในสภาฯ ก็พร้อมที่จะดำเนินการโดยอาศัยวิถีทางอื่น นอกเหนือจากกระบวนการนิติบัญญัติ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ เคยมี 19/2564 ว่า การกระทำทำลายล้างสถาบันฯชัดแจ้ง เซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันฯ ทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

..ศาลรัฐธรรมนูญ วางบรรทัดฐานระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขว่า พระมหากษัตริย์ทรงดำรงสถานะเหนือการเมือง เป็นกลาง การกระทำใด ๆ ทั้งส่งเสริม หรือทำลาย สูญเสียสถานะเป็นกลาง หรือเหนือการเมือง

ย่อมเป็น การเซาะกร่อนบ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม เข้าลักษณะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข..."  

และเมื่อพลิกดูพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้ให้นิยามความหมายของ 3 คำนี้ไว้ ดังนี้ 

เซาะ

(1) ก. ทำให้กร่อนหรือร่อยหรอเข้าไปทีละน้อย เช่น นํ้าเซาะตลิ่ง เซาะรูให้กว้าง

(2) น. ซอกเขาเล็ก ๆ ที่นํ้าเซาะให้เป็นทางลงมา

กร่อน

[กฺร่อน] ก. หมดไปสิ้นไปทีละน้อย, ร่อยหรอ, สึกหรอ

บ่อนทำลาย

ก. แทรกซึมเข้าไปเพื่อทำลายอยู่ภายในทีละน้อย ๆ