ถึงมือป.ป.ช.“ธีรยุทธ-สนธิญา”ยื่นฟันจริยธรรมร้ายแรง 44 ส.ส.ก้าวไกล

02 ก.พ. 2567 | 05:22 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.พ. 2567 | 05:33 น.

“ธีรยุทธ-สนธิญา”มาตามนัด ยื่น ป.ป.ช.เอาผิดจริยธรรมร้ายแรง 44 ส.ส.ก้าวไกล ปมล้มล้างการปกครอง “สนธิญา”ชี้มีโอกาส 50:50 เอาผิดได้

วันนี้ (2 ก.พ. 67) นายธีรยุทธ สุววรรณเกษร ในฐานะผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ พรรคก้าวไกล กระทำการล้มล้างการปกครองฯ และร้องกกต.ขอให้ยุบพรรค และ ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ได้เข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ไต่สวนและดำเนินคดีกับ ส.ส.พรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน ฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง 

กรณีร่วมกันเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112  ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เป็นการล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 87  

นายธีรยุทธ อ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ จากการที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ถูกร้องที่หนึ่ง และ ส.ส. ของผู้ถูกร้องที่สอง คือ พรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน เสนอร่างกฎหมายดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎร และ ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ได้ใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง ในการที่จะเสนอแก้ไขมาตรา 112   

และศาลวินิจฉัยว่า การแก้ไขดังกล่าวเป็นการลดทอนสถานะ และการคุ้มครองสถาบัน มุ่งหมายแยกสถาบันออกจากความเป็นชาติไทย เป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครอง ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม ข้อ 5 ที่กำหนดว่า ต้องยึดมั่นและดำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ 

และข้อ 6 ที่กำหนดว่า ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราชอธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขต และเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน และข้อ 27 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง ซึ่งมาตรฐานจริยธรรมดังกล่าวข้อ 3 วรรคสอง กำหนดว่ามาตรฐานทางจริยธรรมนี้ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  สมาชิกวุฒิสภา และ คณะรัฐมนตรี  ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 219 ด้วย 

เมื่อถามว่าการยื่นต่อ ป.ป.ช.เพื่อให้สอบจริยธรรมอย่างเดียวหรือต้องการให้ยุบพรรค นายธีรยุทธ กล่าวว่า เรื่องการยุบพรรค เป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. ซึ่งได้ยื่นคำร้องไปแล้ว ส่วนต้องการให้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองด้วยหรือไม่ นายธีรยุทธ กล่าวไม่ใช่ความต้องการของตน แต่จะไปถึงตรงนั้นได้หรือไม่  เป็นบทบัญญัติของกฎหมาย ขึ้นอยู่กับวิธีการไต่สวนและรวบรวมพยานหลักฐาน การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีครบถ้วน และยืนยันไม่ได้ปิดทางแก้ไขกฎหมาย แต่การดำเนินการต้องเป็นไปตามแนวทางนิติบัญญัติ

นายธีรยุทธ ยังมองว่า การที่พรรคก้าวไกล ได้ถอดนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ออกจากหน้าเพจของพรรคแล้วก็เป็นการดำเนินตามคำสั่งของศาล   เชื่อว่าเรื่องนี้ฝ่ายกฎหมายของพรรคน่าจะแนะนำไว้แล้ว ตนก็ไม่อยากก้าวล่วง  แต่ก็มองว่าเป็นเรื่องที่ดี   

ส่วนที่แกนนำบางคนแสดงความเห็นว่าการเอานโยบายแก้ไขมาตรา 112 ออกจากหน้าเพจแต่ถูกซ่อนไว้ภายใน  และจะสามารถหยิบยกขึ้นมาดำเนินการเมื่อไหร่ก็ได้นั้น นายธีรยุทธ กล่าวว่า หากมีการทำเช่นนั้นจริง ก็ยังคงเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่ามีการซ่อนเร้น แต่ตนเชื่อว่าทีมกฎหมายจะมีการเสนอแนวทางที่ชัดเจน ให้กับพรรคมากกว่านี้ ผลการดำเนินการในวันนี้ก็เป็นไปตามหน้าที่ในฐานะผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น

ขณะเดียวกัน นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ การกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร ก็ได้ยื่นคำร้องให้ป.ป.ช.ตรวจสอบจริยธรรม ส.ส. 44 คน ของพรรคก้าวไกล ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  

โดยระบุว่า ติดตามเรื่องการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ตั้งแต่จดจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ เมื่อปี 2561 รวมไปถึงความเคลื่อนไหวของคณะนิติราษฎร์ มาจนถึงพรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 ผูกพันทุกองค์กร ที่ต้องปฏิบัติตาม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 

“เรื่องนี้ถือเป็นมรดกบาป ที่เป็นการกระทำถ่ายทอดเป็นกรรมพันธุ์ เป็นดีเอ็นเอ จากอนาคตใหม่ ถึงก้าวไกล ที่ผมคัดค้านมาตลอด 7 ปี ซึ่งเห็นใจ ส.ส.ทั้ง 44 คนที่ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขมาตรา 112 แต่หวังให้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต”

ทั้งนี้ผลพวงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่  31 ม.ค. ส่งผลต่อพรรคก้าวไกล  3 ประการ คือ  

1.กระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนอย่างน้อย 3 มาตรา ทั้งใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง    

2.ฝ่าฝืน พ.ร.ป.พรรคการเมือง นำไปสู่การกระทำล้มล้างการปกครองที่มีโทษถึงขั้นยุบพรรคการเมือง 

และ 3. การยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. เป็นกระบวนการทางกฎหมายที่กระทำผิดซึ่งนำมาประกอบ โดยเรื่องจริยธรรมแยกออกมาจากกฎหมาย ซึ่งเป็นมาตรฐานตามอุดมการณ์ที่เป็นบทบัญญัติที่ร้ายแรงที่ ป.ป.ช.จะต้องยื่นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ศาลฎีกา 

นายสนธิญา ยังกล่าวด้วยว่า จะเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำของผู้บริหารและภาคก้าวไกลนับ ตั้งแต่ 31 มกราคม เป็นต้นมา ทั้งคำให้สัมภาษณ์ ของนายปิยบุตร แสงกนกกุล และ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ รวมถึงหัวหน้าพรรคก้าวไกล  ว่าจะยังเดินหน้าเรื่องมาตรา112 ต่อไปหรือไม่

และจะรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานทั้งหมด เกี่ยวกับการเดินหน้าแก้ไขมาตรา 112 เพื่อนำมาประกอบการชี้แจงต่อ ป.ป.ช. เพื่อนำไปสู่การเอาผิด ส.ส. 44 คน รวมถึงจะติดตามเรื่องการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หากมีรายละเอียดเสนอ นิรโทษกรรมความผิดให้กับผู้กระทำผิดตามมาตรา 112 ก็จะนับรวม และเป็นการแสดงออกว่า กำลังแก้ไขมาตรา 112 จึงเปรียบเป็นมรดกบาป กลายเป็นดาวลูกไก่ที่อยู่บนท้องฟ้าสูง และถือเป็นการตั้งใจเซาะกร่อน บ่อนทำลาย ไม่ได้เคารพศาลไม่ทำตามที่ศาลสั่ง จึงขอเตือนขอให้พรรคก้าวไกล ที่ยังคงเคลื่อนไหว

นายสนธิญา กล่าวอีกว่า การยื่นร้องจริยธรรมในวันนี้ คิดว่ามีโอกาส 50:50 แต่ถ้าหลังจากนี้ยังมีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามคำสั่งศาล คิดว่ามีโอกาสตัดสิทธิ์ทางการเมือง เพราะตนมีเป้าหมายให้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต