จาก “ขบวนเสด็จฯ” สู่การผลักดันทบทวน พ.ร.บ.ถวายความปลอดภัย

15 ก.พ. 2567 | 07:28 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.พ. 2567 | 07:55 น.

จาก “ขบวนเสด็จฯ” สู่การทบทวนระเบียบมาตรการต่าง ๆ รวมทั้งแผนถวายความปลอดภัยแก่ขบวนเสด็จ โดยมีกฎหมายบังคับใช้ คือ พ.ร.บ.ถวายความปลอดภัย พ.ศ.2560

จากกรณีกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองบีบแตรและโต้ตอบกับตำรวจ ขณะอำนวยความสะดวก "ขบวนเสด็จฯ" นำไปสู่การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ในสังคมเกี่ยวกับความเหมาะสม กระทั่งตำรวจดำเนินคดีในกรณีนี้ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความเคลื่อนไหวจากฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเฉพาะ ส.ส. 

"เอกนัฎ พร้อมพันธ์" ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ เสนอญัตติทบทวนมาตรการอารักขา แนะนำปรับระเบียบให้ทันสมัยและมีแผนรับมือสถานการณ์ป้องกันเหตุขัดแย้ง

ขณะที่ "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์" สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ เสนอญัตติร่วมเพื่อขอให้รัฐบาลปรับปรุง พ.ร.บ.ถวายความปลอดภัย 60 พร้อมให้ กมธ.นิรโทษฯ รับเรื่องไปประกอบพิจารณา

 

เพื่อทำความเข้าใจกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถวายความปลอดภัยฉบับนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมรายละเอียดและความเป็นมาอย่างไร

พระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย 2560

กฎหมายที่ใช้เพื่อรักษาความปลอดภัย องค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และผู้แทนพระองค์ รวมถึงพระราชอาคันตุกะ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2560 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ

สาระสำคัญของพระราชบัญญัติการถวายความปลอดภัย 2560

มาตราที่ 3 ให้ยกเลิก พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ.2557 เเละกำหนดในมาตรา 8 ว่า ระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศที่ออกตาม พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ.2557 ยังคงใช้บังคับใช้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะออกระเบียบ ประกาศ หรือแนวปฏิบัติอื่นตาม พ.ร.บ.นี้ 

เนื่องจาก ในปี 2557 มีการตรา พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย 2557 ขึ้นมาแทน พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยฯ 2549 เนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวมีรูปแบบของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี จึงทำให้กฎเกณฑ์และวิธีปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เป็นเอกภาพ

 

มาตรา 4 กำหนดนิยามความหมาย  4 คำ ได้แก่ การถวายความปลอดภัย ความปลอดภัย ส่วนราชการในพระองค์ และ หน่วยงานของรัฐ

มาตรา 5 ให้ส่วนราชการในพระองค์มีหน้าที่วางแผนถวายความปลอดภัย ตลอดจนอำนวยการ ประสานงาน ควบคุม และปฏิบัติงานในการถวายความปลอดภัย โดยมีราชเลขานุการในพระองค์ของพระมหากษัตริย์เป็นผู้บังคับบัญชา

มาตรา 6 ให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งมีหน้าที่ในการถวายความปลอดภัยหรือร่วมมือในการถวายความปลอดภัยตามที่ราชเลขานุการในพระองค์ของพระมหากษัตริย์กำหนด

มาตรา 7 ให้ราชเลขานุการในพระองค์ของพระมหากษัตริย์มีอำนาจกำหนดระเบียบหรือออกประกาศเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การปฏิบัติหน้าที่ในการถวายความปลอดภัย

มาตรา 9 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

บันทึกท้ายพระราชบัญญัติ

มีเหตุผลการประกาศใช้ คือ ได้มีการตรากฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการในพระองค์และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ กําหนดให้มีส่วนราชการในพระองค์เพื่อปฏิบัติภารกิจขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการถวายความปลอดภัยให้สอดคล้องกับหน้าที่ส่วนราชการในพระองค์และกําหนดหลักเกณฑ์การถวายความปลอดภัยให้ดําเนินการถวายพระเกียรติในการปฏิบัติภารกิจได้ ตามพระราชประสงค์