สพฐ. จ่อ ยกเลิก รับนักเรียนโควต้าพิเศษเพิ่ม อุดช่องโหว่ “เงินแป๊ะเจี๊ยะ”

24 ก.พ. 2567 | 07:18 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.พ. 2567 | 07:33 น.

ป.ป.ช.ชง มาตรการป้องกันจ่าย “เงินแป๊ะเจี๊ยะ” เข้า “โรงเรียนดัง” สั่ง สพฐ. ยกเลิก รับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษเพิ่มเติม

วันนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2567) รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตกรณี การเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดังนี้ 

  • กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ควรกำชับให้หน่วยงานในสังกัดเคร่งครัดการปฏิบัติตามมติครม.เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 เรื่อง มาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่สอดรับกับมติครม.ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐานสามารถพิจารณาดำเนินการศึกษาวิจัยโดยร่วมกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ เพื่อศึกษาข้อดีข้อเสีย ประโยชน์ ผลกระทบต่อการพัฒนาระบบการศึกษา สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคทางการศึกษาเพื่อประกอบการกำหนดแนวทาง “การรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ”

ยกตัวอย่างเช่น การพิจารณานิยาม “เด็กนักเรียนผู้ยากไร้และด้อยโอกาส” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายทางลบให้เป็นคำที่มีความหมายในเชิงทางบวกแทน เช่น “ด้านการสนับสนุนและเสริมสร้างเด็กเรียนดี” และเงื่อนไขที่สนับสนุน “ด้านการเสริมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา” ทั้งนี้ สามารถเสนอขอมี “เงื่อนไขพิเศษ” ได้ในอนาคต 

  • สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พิจารณาประกาศ “ยกเลิก” การเปิดโอกาสให้สถานศึกษาในสังกัด กำหนดหลักเกณฑ์การรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ “เพิ่มเติม” นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในนโยบายหรือแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เนื่องจากการเปิดโอกาสดังกล่าว ทำให้เกิดการใช้ดุลพินิจของสถานศึกษาที่มีมาตรฐานในการกำหนดหนักเกณฑ์ที่แตกต่างกัน และอาจมีช่องว่างหรืออาจเกิดความเสี่ยงในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อแลกกับการเข้าเรียนในสถานศึกษาได้ง่ายขึ้น
  • เพื่อการเป็นการปฏิบัติตามสิทธิของเด็กตามหลักการสิทธิมนุษยชนของเด็ก เนื่องด้วยอนุสัญญาสิทธิเด็ก (Convention on the Right of the Child : CRD) การประกาศรายชื่อ “นักเรียนเงื่อนไขพิเศษ” ควรประกาศเฉพาะเลขประจำตัวผู้ได้รับการคัดเลือก แต่ยังคงให้มีการจัดทำฐานข้อมูลรายชื่อไว้เป็นความลับ และหากมีการขอตรวจสอบข้อมูลโดยผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2550 
  • สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พิจารณาสุ่มตรวจการดำเนินการการรับนักเรียนของโรงเรียนในสังกัดทั่วประเทศ เพื่อตรวจสอบ ติดตาม สังเกตการณ์และให้แนะนำเกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติการรับนักเรียนเป็นประจำทุกปี 
  • มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดทำแนวทาง การดำเนินงาน เสนอต่อครม.เพื่อประกอบการพิจารณา และมีมติมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานนำไปปฏิบัติต่อไป