นายกฯ สยบศึกสปก.รุกที่เขาใหญ่“ตัดไฟ”ลามล้มรัฐบาล

24 ก.พ. 2567 | 08:59 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.พ. 2567 | 09:23 น.

นายกฯ สยบศึกสปก.รุกที่เขาใหญ่“ตัดไฟ”ลามล้มรัฐบาล : รายงานพิเศษ โดย...ทีมข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3969

KEY

POINTS

 

     -ปัญหาการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก.4-10 รุกเข้าไปในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่าง 2 กระทรวง

 

     -นายกฯ เศรษฐา หวั่นเกรงว่าปัญหาเรื่องนี้ หากปล่อยไว้อาจกลายเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” ลามล้มรัฐบาลเอาได้ 

 

      -สมัยรัฐบาล ชวน หลีกภัย มีปัญหาคนรวยที่ใกล้ชิดรัฐบาลได้รับจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก.4-01 จนกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ลามไปสู่การยุบสภา

ปมปัญหาการจัดสรรที่ดินเพื่อเกษตรกรรม “ส.ป.ก.4-10” รุกเข้าไปในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา กลายเป็นความขัดแย้งทางการเมือง ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ(ทส.)  ที่มี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็นรมว.ว่าการ กับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นเจ้ากระทรวง

ต้นเหตุมาจาก ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ สังกัด ทส. ออกมาเปิดประเด็นที่ดิน ส.ป.ก. รุกเข้าทับพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยอ้างว่าผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์ไม่ใช่เกษตรกรตัวจริง และป่าเขาใหญ่ คือพื้นที่มรดกโลก แต่กลับมีการปล่อยให้ ส.ป.ก.เข้าไปปักหมุดยึดพื้นที่ทำเกษตรกรรมได้อย่างไร

ทำให้ ผู้กองธรรมนัส ออกโรงสวนกลับว่า ชัยวัฒน์ ไม่มีสิทธิ์ เนื่องจากเรื่องนี้ต้องระดับ “ปลัดกระทรวง” คุยกัน ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด โดยเตรียมตั้งกรรมการสอบสวนเรื่องนี้

ขณะที่ ปลัด ทส. ได้ออกมาปกป้อง “ชัยวัฒน์” ว่า มีสิทธิ์ดำเนินการเรื่องนี้ได้ หากที่ดิน ส.ป.ก.รุกล้ำอุทยานแห่งชาติ ส่วน พล.ต.อ.พัชรวาท ก็ออกมาสำทับว่า เรื่องนี้จะยึดข้อกฎหมายเป็นหลัก

                         นายกฯ สยบศึกสปก.รุกที่เขาใหญ่“ตัดไฟ”ลามล้มรัฐบาล

ท่ามกลางความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ทั้ง “ผู้กองธรรมนัส-พัชรวาท” ก็อยู่ค่ายเดียวกัน ภายใต้สังกัดพี่ใหญ่ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 

ทำเอา เศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนายกฯ คงหวั่นเกรงว่าปัญหาเรื่องนี้ หากปล่อยไว้อาจกลายเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” ลามล้มรัฐบาลเอาได้ เพราะบทเรียนในอดีตมีให้เห็นมาแล้ว 

นายกฯเคลียร์ศึกสปก. 

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา จึงได้เห็นภาพ นายกฯ เศรษฐา ออกโรง “สยบศึก” โดยได้เรียก ร.อ.ธรรมนัส, วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.), จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส., อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ พล.ท.ชาคร บุญภักดี เจ้ากรมแผนที่ทหาร เข้าประชุมเพื่อหารือแก้ปัญหาดังกล่าว

                          นายกฯ สยบศึกสปก.รุกที่เขาใหญ่“ตัดไฟ”ลามล้มรัฐบาล

นายเศรษฐา กล่าวถึงกรณี นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติฯ ระบุพื้นที่ที่มีปัญหาไม่ได้มีแค่เป็นหลักพัน แต่มีกว่า 1.5 แสนไร่ว่า “จะเป็นเท่าไรก็ต้องถูกต้องตามกฎหมาย เป็นไปตามไกด์ไลน์ที่เราคุยกัน เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2567 ซึ่งมีการพูดคุยกันดีอยู่แล้ว 

ย้อนสปก.ล้ม“รัฐบาลชวน” 

ปัญหาเรื่องที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ที่บานปลายกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว “ล้มรัฐบาล” เคยเกิดมาในอดีตจากกรณีมีการจัดสรร “ที่ ส.ป.ก.” ให้กับคนรวย ที่ไม่ได้เป็นเกษตรกรตัวจริง ถึงขั้นทำให้ ชวน หลีกภัย นายกฯ ในสมัยที่เป็น “รัฐบาลชวน 1” ต้องยุบสภามาแล้ว

เรื่องราวดังกล่าวเริ่มต้น หลังการเลือกตั้งในเดือน ก.ย. 2535 “พรรคประชาธิปัตย์” หรือ ปชป. ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดย ชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรค ปชป. ขณะนั้น ขึ้นเป็นนายกฯ และได้ดำเนินการนโยบายปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อมอบให้เกษตรกร โดยมอบหมายให้ สุเทพ เทือกสุบรรณ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ขณะนั้น เป็นผู้ดูแลนโยบาย 

แต่เกิดปัญหาขึ้นที่ “จังหวัดภูเก็ต” เมื่อมีหลายคนไม่เหมาะสม ไม่สมควรได้ ที่ ส.ป.ก. แต่กลับได้ หนึ่งในนั้นคือ ทศพร เทพบุตร เศรษฐีแห่งภูเก็ต สามีของ อัญชลี วานิช เทพบุตร เลขานุการของ นายสุเทพ ขณะนั้น ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กรณีรัฐบาลทำผิดเจตนารมณ์ของนโยบาย และ เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน

                          นายกฯ สยบศึกสปก.รุกที่เขาใหญ่“ตัดไฟ”ลามล้มรัฐบาล

จนกระทรวงเกษตรฯ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ สปก. 4-01 โดยจังหวัดภูเก็ต พบว่า มีปัญหา 2 ประการคือ ประการแรก พื้นที่บางจุดเป็นป่าค่อนข้างสมบูรณ์ กับประการที่สองคือ พบปัญหาในการพิจารณาการปฏิบัติ ตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2535 

กลายเป็นประเด็นให้ “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ที่มี พรรคชาติไทย เป็นแกนนำ โดย ส.ส.กลุ่ม 16 ที่นำโดย เนวิน ชิดชอบ ได้ยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล คือ นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กับ สุเทพ เทือกสุบรรณ รมช.เกษตรฯ 
ก่อนจะมีการลงมติ พรรคพลังธรรม ที่มี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นหัวหน้าพรรค มีมติ “งดออกเสียง” และ “ถอนตัว” จากการร่วมรัฐบาล

ทำให้ สุเทพ จะลาออกจากตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ ในเดือน ธ.ค. 2537 และ นิพนธ์ ลาออกจาก รมว.เกษตรฯ ในช่วงเวลาเดียวกัน พร้อมกับนำมาซึ่งการเพิกถอนสิทธิ์ในที่ดิน ส.ป.ก. ของบุคคลเหล่านั้น

และเมื่อ “ประชาธิปัตย์” ไม่สามารถดึงเสียงจากพรรคฝ่ายค้านเข้ามาแทนที่พรรคพลังธรรมได้ จึงทำให้ ชวน หลีกภัย ต้องตัดสินใจ “ยุบสภา” นำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปใหม่ ในปี 2538 

มาในยุค “รัฐบาลเศรษฐา” ที่มีนโยบายแปลง ส.ป.ก.4-01 เป็น “โฉนดเพื่อการเกษตร” สามารถเปลี่ยนมือได้ หากมีการ “แฉ” ออกมามากๆ ว่า คนที่ได้รับที่ดิน เป็นคนที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสม ไม่สมควรได้ เพราะไม่ใช่เกษตรกรตัวจริง 

ปัญหา ส.ป.ก.4-01 ที่เกิดขึ้นขณะนี้ หากไม่มีการ “ตัดไฟแต่ต้นลม” ก็อาจลุกลามบานปลายกลายเป็นประเด็น ล้ม “รัฐบาลเศรษฐา” ขึ้นมาก็ได้ ใครจะไปรู้...   


++++++++++++

                    นายกฯ สยบศึกสปก.รุกที่เขาใหญ่“ตัดไฟ”ลามล้มรัฐบาล
 

ตั้งคกก.ตรวจสอบถือที่ส.ป.ก.

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) และ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมแถลงหลังหารือกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2567 

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า นายกฯ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยในประเด็นที่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งตนเองในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสำนักงานปฏิรูปที่ดิน ยืนยันว่า กรณี ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตำบลบุฤาษี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เจ้าหน้าที่กรมอุทยาน กรมแผนที่ทหาร และสำนักงานปฏิรูปที่ดิน ได้หารือกันตามแนวทางของนายกรัฐมนตรี โดยสรุปว่า 

1.พื้นที่ที่เกิดข้อพิพาท เราจะไม่เถียงกันแล้วว่าเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานไหน โดยนายกฯ ได้กำชับกรมแผนที่ทหาร ให้ทำแนวเขตแดนพื้นที่ของรัฐ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ในการพิสูจน์พื้นที่ตรงนี้

ส่วนกระทรวงทรัพย์ฯ และกระทรวงเกษตรฯ จะมีข้อตกลงกันระหว่างสำนักงานปฏิรูปที่ดิน และ กรมอุทยานฯ ว่า หากพิสูจน์แล้วว่าเป็นพื้นที่ของเขตปฏิรูปที่ดิน ตามหลักฐานเดิมตั้งแต่ปี 2527-2534 เกิดปัญหาเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ติดกัน หรือแนวกันชน ทางคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจะได้ออกนโยบายว่า จะไม่จัดพื้นที่แนวกันชนให้กับเกษตรกรทำกินโดยเด็ดขาด ตามข้อตกลงที่คุยกันไว้

2. พื้นที่ที่มีปัญหาได้มอบนโยบายให้ส.ป.ก.ไปยกเลิกให้หมดทุกแปลง ที่มีการทำรังวัดและออกเอกสารประเภท สปก.4-01 ให้กับเกษตรกร ซึ่งจะเป็นเกษตรกรหรือไม่ ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ หากมีมูลก็จะตั้งคณะกรรมการดำเนินความผิดวินัยร้ายแรง และดำเนินคดีอาญา

ส่วนแนวทางในอนาคต จะมีการทำบันทึกข้อตกลง ระหว่างสำนักงานปฏิรูปที่ดินและกรมอุทยาน การจะกระทำการใดๆ ในพื้นที่จะต้องผ่านคณะกรรมการในการตรวจสอบอย่างเป็นรูปธรรม โดยมอบให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นคณะกรรมการทั้งหมดเพื่อความโปร่งใส

"สิ่งที่เกิดปัญหา ผมไม่อยากโทษรัฐบาลที่แล้ว แต่ว่ารังวัดเริ่มต้นรังวัดตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค. ก่อนรัฐบาลชุดนี้เข้ามา ดังนั้นสิ่งที่ผมกำลังจะแก้ปัญหา คือผมต้องทำความสะอาดบ้านผมให้เรียบร้อย แต่สิ่งที่เราจะต้องทำตอนนี้คือ การแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่าง 2 กระทรวง โดยเรามาจากพรรคเดียวกัน ไม่อยากให้เข้าใจว่าเป็นประเด็นทางการเมือง แต่เป็นความผิดพลาดในการทำงาน ซึ่งไม่คุยกัน ถ้าคุยกันก็จะไม่มีปัญหา" 

ร.อ.ธรรมนัส ย้ำว่า ตอนนี้ต้องเร่งแก้ปัญหาพื้นที่ ที่เป็นประเด็นทางสังคมก่อน ที่มีการออกเอกสารสิทธิ์ให้พี่น้องเกษตรกรทำกินทั้ง 5 แปลง และต้องมีจิตใต้สำนึกว่าเป็นพื้นป่าจะไปจัดได้อย่างไร ตนเองไม่เห็นด้วย ยืนยันว่าจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนแน่นอน

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ กล่าวว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.ทส. ได้เน้นย้ำว่า ให้ยึดหลักกฎหมาย และข้อเท็จจริงมาคุยกัน ใช้หลักวิทยาศาสตร์ของกรมแผนที่ทหารมาคุยกัน