ประธานกกต.ยันส่งยุบ“ก้าวไกล”พิจารณารอบคอบ ไม่เร็วเกินไป

13 มี.ค. 2567 | 05:10 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มี.ค. 2567 | 05:16 น.

“อิทธิพร”ยันกกต.ส่งยุบพรรคก้าวไกล พิจารณารอบคอบ ไม่เร็วเกินไป ใช้คำวินิจฉัยศาลรธน.เป็นหลักฐานสำคัญ ชี้โทษสูงสุดยุบพรรคตัดสิทธิไม่เกิน 10 ปี ส่วนคดียุบภูมิใจไทย อยู่ระหว่างนายทะเบียนรวบรวมหลักฐาน

วันนี้ (13 มี.ค. 67) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีกกต.มีมติเอกฉันท์ส่งศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกล ว่า ที่ประชุม กกต.เห็นควรให้ส่งเรื่องพรรคก้าวไกลล้มล้างการปกครองไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งกระบวนการพิจารณาเรื่องนี้ที่ประชุม กกต.ได้ให้สำนักงาน กกต.ศึกษาวิเคราะห์ ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ.2567 หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2567 ซึ่งเป็นการศึกษาพิจารณาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด

จนกระทั่งถึงวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการเมื่อ 29 ก.พ.2567 และเราก็ใช้เวลาในการพิจารณาเพิ่มเติม และข้อเสนอแนะ จนเป็นที่มาของผลการประชุมกกต.เมื่อวานนี้ 

ส่วนที่พรรคก้าวไกลตั้งคำถามว่าเร็วเกินไป นายอิทธิพร ยืนยันว่า เรื่องนี้เป็นการดำเนินการโดยใช้อำนาจหน้าที่ ตามมาตรา 92 ซึ่งใช้คำว่าเมื่อ กกต. มีหลักฐานอันควรเชื่อว่า มีพรรคใดกระทำการอันควรจะเป็นการล้มล้างการปกครอง ให้เสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ซึ่งเรามีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมา ตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค. และคำวินิจฉัยที่ประกาศเป็นทางการออกมาวันที่ 29 ก.พ. ก็ใช้เวลาพอสมควร

"สิ่งที่เป็นหลักฐานอันเชื่อได้ว่า ก็คือ คำวินิจฉัยของศาลนั่นเอง มีรายละเอียด ข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน มีเอกสารประกอบ มีคำไต่สวน มีถ้อยคำของผู้ที่เกี่ยวข้อง ฉะนั้นเราจึงมีเหตุผลที่เชื่อได้ว่า ควรส่งศาลรัฐธรรมนูญ และเมื่อ กกต.มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคก้าวไกล โดยทั่วไปจะใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ ในการจัดทำคำร้องเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเสร็จเมื่อไหร่ก็ยื่นเมื่อนั้น"

ส่วนที่โซเชียลครหาว่า กกต. มีใบสั่ง นายอิทธิพร ชี้แจงว่า ที่ทำงานมาก็ทำตามกฎหมาย คนที่จะสั่งให้เราปฎิบัติหน้าที่ คือ กฎหมายที่เขียนเอาไว้ หากมองตามรัฐธรรมนูญ ก็คือ เราเป็นองค์กรอิสระหนึ่งที่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและหลักนิติธรรม เพราะฉะนั้นหากไม่ทำตามกฏหมาย ก็ถือว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่ 

เมื่อถามว่าจากนี้ยังมีคิวยื่นยุบพรรคการเมืองอื่นอีกหรือไม่ ประธานกกต. กล่าวว่า ไม่อยากเรียกว่า เป็นคิว หากมีการเสนอเรื่อง และพิจารณาว่า พรรคการเมืองหรือผู้บริหารพรรคการเมืองใดกระทำการอันจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งจะนำไปสู่การ ต้องยื่นศาลที่เกี่ยวข้อง เราก็ดำเนินการตามนั้น ไม่ได้มีเฉพาะเจาะจงอะไร

ส่วนความคืบคดียุบพรรคภูมิใจไทย กรณีรับเงินบริจาค หจก.บุรีเจริญ คอนตรัคชั่นนั้น ประธาน กกต.กล่าวว่า อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และรวบรวบพยานหลักฐาน ของเลขาฯ กกต. ซึ่งเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง ยังไม่ถึงขั้นที่จะสรุปความเห็นและนำเข้าสู่ที่ประชุม กกต.

ส่วนที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ระบุโทษของการยุบพรรคก้าวไกล อาจร้ายแรงถึงขั้นถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต ประธาน กกต. กล่าวว่า ตามมาตรา 92 แล้ว หาก กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค กกต.สามารถยื่นให้ศาลพิจารณาเพิกถอนสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ ตามกฎหมายแล้วศาลจะสั่งห้ามตั้งพรรคใหม่ ห้ามเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองอื่น ซึ่งศาลจะสั่งห้ามไม่ให้เกิน 10 ปี นั่นเป็นโทษสูงสุด 

ส่วนกกต.จะดำเนินคดีอาญากับพรรคก้าวไกลด้วยหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายอื่นด้วยหรือไม่