นายวิสูตร บัวชุม ผู้อำนวยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงราย ซึ่งรับผิดชอบการส่งเสริมการท่องเที่ยว ในด้านการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และการตลาดการท่องเที่ยว 2 จังหวัด คือ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดพะเยา กล่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2567ณ จังหวัดพะเยา และติดตามการตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย น่าน พะเยา และแพร่) จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำปาง ระหว่างวันที่ 18-19 มีนาคม 2567
การประชุม ครม.สัญจร นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ไม่ได้ดูเรื่องของการท่องเที่ยวเป็นหลักอย่างเดียว แต่ดูภาพรวมด้วย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ก่อสร้างสนามบิน จังหวัดพะเยา ต.ดอนศรีชุม อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา หารือแผนการพัฒนาพื้นที่เป็นสนามบินจังหวัดพะเยา ติดตามสถานการณ์การค้าชายแดนและการพัฒนาพื้นที่ก่อสร้างที่ทำการ ด่านชายแดน CIQ ณ จุดผ่านแดนถาวร ฯลฯ
รวมทั้งการลงพื้นที่ของ ครม.ครั้งนี้ รมต.ได้กระจายลงพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดเชียงราย ลงมาจังหวัดพะเยา การลงพื้นที่ตามฟังก์ชันของแต่ละคน ส่วนนายกรัฐมนตรี จะเป็นอีกหนึ่งเส้นทาง โดยช่วงเย็นวันที่ 18 มีนาคม จะมีงานเลี้ยงอาหารขันโตก
ส่วนปลัดกระทรวง อธิบดี ใช้ร้านอาหารในจังหวัดพะเยาเต็มทุกร้าน ทั้ง อาหารเล็ก ใหญ่ คอนเซ็ปต์ จังหวัดมอบให้กับ เอกชนโดยเฉพาะชมรมร้านอาหาร นำเมนูที่ใช้วัตถุดิบที่เป็นผลผลิตด้านการเกษตรของพะเยา อย่างเช่น ข้าวหอมมะลิพะเยา ลิ้นจี่ ที่แม่ใจ มีวิธีการถนอมลิ้นจี่ ให้มีความสดเกือบ 100% โคขุนดอกคำใต้ ฯลฯ มาปรุงทำเป็นเมนู ให้กับนายกรัฐมนตรี และ ครม.ด้วย
นายวิสูตร กล่าวอีกว่า ครม.สัญจรที่พะเยาจะทำให้บรรยากาศคึกคักในช่วงการประชุม ห้องพักในพะเยาจำนวน 2,500 ห้อง เต็ม 100% คึกคักแน่นอน เป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่จังหวัดพะเยามีผู้คนเข้ามาในพื้นที่ได้เต็มขีดความสามารถในการรองรับ โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 17-18 มีนาคม เต็ม100% จนถึงวันที่19 มีนาคม วันเดินทางกลับ จากนั้นห้องพักคงจะเริ่มว่างให้กับนักท่องเที่ยวทั่วไปเข้ามาพักได้มากขึ้น
ในส่วนของเงินสะพัด โดยเฉลี่ยแล้วพะเยา อัตราเข้าพัก ห้องพักเต็ม 100% ประมาณ 3 วัน คำนวณแบบขั้นต่ำรายได้สะพัดเฉลี่ยวันละประมาณ 40 ล้านบาท ในช่วงหลักวันประชุมวันที่ 18-19 มีนาคม แต่จะพ่วงด้วยช่วงการเตรียมงานด้วย คาดว่า 3 วัน เงินสะพัดกว่า 100 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแต่งกายของครม.สัญจร ครั้งนี้ ทางจังหวัดพะเยา ได้เตรียมผ้าถิ่นไทยจังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นผ้าฝ้ายสีธรรมชาติ ย้อมจากครั่งได้สีชมพูเข้มอมม่วง โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผ้ามัดย้อม ชิโบริสีธรรมชาติแม่อิง อำเภอภูกามยาว
แต่งด้วยลาย ดอกสารภี ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดพะเยา พื้นลายสีขาวงาช้างยกดอกสารภี ด้วยเส้นฝ้ายที่ย้อมจากครั่ง (สีชมพูอมม่วง) ริมแต่งด้วยลายเกล็ดพญานาคสีขาวงาช้าง
กระบวนการถักทอผ้าพื้นและลายดอกสารภี โดยช่างทอผ้าที่มีการสืบต่อภูมิปัญญา มากกว่า 38 ปี จากกลุ่มทอผ้าไทลื้อบ้านสันปูเลย หมู่ที่ 8 ตำบลอ่างทอง และกลุ่มทอผ้าไทลื้อบ้านฝั่งแวนหมู่ที่11 ตำบลเชียงบาน อำเภอเชียงคำ ส่วนลายดอกสารภี เป็นลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดพะเยา ออกแบบผ้าโดยกลุ่มทอผ้าไทลื้อบ้านหย่วน ต.หย่วน อ.เชียงคำ
โดยลวดลายผ้ามีความหมาย ดังนี้
กลีบดอกรูปหัวใจ 10 ดอก : สื่อถึงปณิธานของพระบาทสมเด็จ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 10 " สืบสาน รักษา ต่อยอด"
เกสร 9 เกสร : อำเภอทั้ง 9 อำเภอในจังหวัดพะเยาที่รวมน้ำใจเป็นหนึ่งใจเดียวกัน
ทั้งนี้ ตัดเย็บเสื้อโดย นายวีระพัทร์ คำวิชัย ประธานสมาพันธ์ SME จังหวัดพะเยา