10 เม.ย. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญจัดการประชุมทางวิชาการประจำปีหัวข้อ "ศาลรัฐธรรมนูญกับการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ" เนื่องในโอกาส 26 ปีแห่งการสถาปนาศาลรัฐธรรมนูญ โดยนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวปาถกฐาพิเศษ ระบุถึงอำนาจหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม ทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาด กรณีที่มีปัญหาที่ต้องตีความ กรณีมีปัญหาหน้าที่มีอำนาจขององค์กรและวินิจฉัยคดีที่เกิดจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในการทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด
ปัจจุบันประชาชนสามารถร้องตรง หลังผ่านการร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินแล้วซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่พร้อมหยิบยกเครื่องมือที่สำคัญที่ศาลรัฐธรรมนูญนำมาใช้วินิจฉัยคดีที่มีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการมาตลอดระยะเวลา 26 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2541 แบ่งออกเป็น 4 ประการ ดังนี้
1.กฎหมายนั้นต้องไม่ขัดกับหลักนิติธรรม ไม่มีผลย้อนหลังโดยเฉพาะการลงโทษทางอาญาต่อบุคคลซึ่งเป็นไปตามหลักนิติธรรมที่ว่า "ไม่มีความผิด ไม่มีโทษโดยไม่มีกฎหมาย เช่นที่ศาลได้มีคำวินิจฉัยกรณีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
กรณีการออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่เป็นการออกคำสั่ง เรียกให้มารายงานตัวก่อนแล้วออกประกาศกำหนดโทษของการกระทำดังกล่าว หรือ กรณี พ.ร.บ. ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ที่มีกำหนดข้อสันนิษฐานไว้ ตั้งแต่เริ่มแรกว่า ถ้าบุคคลใดกระทำความผิดให้กรรมการผู้จัดการของบริษัทหรือ นิติบุคคลนั้นทุกคนต้องร่วมรับผิดไปด้วย
โดยยังไม่ได้มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดและยังมีอีกหลายคำวินิจฉัยที่ศาลฯได้พิจารณาว่า กฎหมายที่มีลักษณะดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และจากผลวินิจฉัยทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติทำการยกเลิกและแก้ไขกฎหมายที่มีบทบัญญัติในลักษณะเดียวกันทั้งหมดของประเทศไทย รวม 76 ฉบับ
2. กฎหมายต้องไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินกว่าเหตุซึ่งเป็นหลักการใหม่ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน
3. การตรากฎหมายจะต้องไม่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้
4. การตรากฎหมายต้องระบุถึงเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิเสรีภาพ กฎหมายนั้นจะต้องบังคับใช้เป็นการทั่วไปโดยไม่ได้มุ่งหมายบังคับกับบุคคลใดเป็นกรณีพิเศษ
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2541 จนปัจจุบันมีคำร้องเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัย 1,881 คำร้องและมีการวินิจฉัยไปแล้ว 812 คำวินิจฉัยมีคำสั่ง 1,047 คำสั่ง ขณะเดียวกันมีคดีร้องทุกข์ทางรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญปี 2550 จนถึงปัจจุบัน 586 คำร้องมีคำวินิจฉัย 6 คำวินิจฉัยและคำสั่งจำนวน 570 คำสั่ง
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เน้นย้ำถึงการที่ศาลรัฐธรรมนูญจะยืนหยัดการรักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยรักษาความเป็นกฏหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญรักษาระบอบการเมืองการปกครองตามที่รัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้และสร้างมาตรฐานที่สำคัญให้ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติใช้เป็นแนวทางปฏิบัติมุ่งในทางคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตามหลักปณิธานของศาลรัฐธรรมนูญ ยึดหลักนิติธรรม ค้ำจุนประชาธิปไตย ห่วงใยสิทธิเสรีภาพของประชาชน
นอกจากนี้ศาลได้ปรับตัวให้เข้ากับของโลกยุคดิจิทัลโดยได้พัฒนากระบวนการยุติธรรมที่อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงศาลรัฐธรรมนูญได้โดยง่ายผ่านช่องทางเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ เช่น ยื่นคำร้องผ่านทางระบบงานคดีรัฐธรรมนูญอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing and e-Service System) ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ และในทุกประเภทคดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม และไม่เสียค่าใช้จ่าย
รวมทั้งสามารถติดตามความคืบหน้าของคดีหรือผลคำวินิจฉัยหรือคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องที่ได้ยื่นผ่านทางระบบงานคดีรัฐธรรมนูญอิเล็กทรอนิกส์