KEY
POINTS
สถานการณ์ของ “พรรคก้าวไกล” ขณะนี้กำลังไต่อยู่บนเส้นด้าย ภายหลัง “ศาลรัฐธรรมนูญ” รับคำร้อง คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ไว้พิจารณาวินิจฉัยยุบพรรค เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2567
จากกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อว่า พรรคก้าวไกล มีพฤติการณ์กระทําการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2)
คาดการณ์กันว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” จะตัดสินชี้ชะตา “ก้าวไกล” ว่าจะยุบพรรค หรือ ไม่ยุบพรรค ไม่เกินเดือน สิงหาคม 2567 นี้
และดูเหมือนแกนนำ “พรรคสีส้ม” จะรู้ตัวดีว่าคง “ไม่รอด” แน่ ถึงได้มีอาการ “ดิ้นรน ทุรนทุราย” ออกมา ดั่งที่ปรากฏ
“พิธา”เหมือนรู้โชคชะตา
เริ่มจาก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่พูดทำนอง “รู้โชคชะตา” ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาญัตติอภิปรายทั่วไปรัฐบาลแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2567 เวลา 01.19 น. ที่ผ่านมา
“ผมไม่เคยเสียใจด้วยว่าในการอภิปรายในครั้งนี้ อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตการเมืองของผม ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องความลับอะไร ทุกคนทราบดีอยู่ว่า ชีวิตทางการเมืองของผมตอนนี้แขวนอยู่บนเส้นด้าย แต่ผมพร้อมที่จะเดินจากไปอย่างผู้ชนะ ไม่ได้มีอะไรติดค้างใจต่อไป
อย่างที่ได้เห็นเพื่อน ส.ส.ข้างๆ ผม อยู่รอบตัวผม ก็รู้สึกเบาใจ ไม่ได้ค้างคาใจอีกต่อไป และผมก็มั่นใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคของผม การยุบพรรค ไม่ได้ทำให้การเดินทางของประเทศไทยเปลี่ยนแปลง ยิ่งยุบ ยิ่งทำให้เราไปถึงเส้นชัยได้เร็วมากขึ้นด้วยซ้ำไป”
ยุบพรรคติดเทอร์โบก้าวไกล
ถัดมาวันรุ่งขึ้น (6 เม.ย. 67) ที่โรงแรมเมเปิ้ล ก่อนการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 ของพรรคก้าวไกล พิธา ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องยุบพรรคว่า
“ถ้าเป็นเรื่องถึงขั้นประหารทางการเมือง โดยเฉพาะการทำลายพรรคฝ่ายค้านอันดับหนึ่ง ไม่ใช่เพียงแค่กระทบต่อพรรคก้าวไกล แต่จะกระทบต่อระบบประชาธิปไตย”
พร้อมตั้งคำถามว่า “ไม่รู้ว่าผู้ที่มีอำนาจในการยุบพรรค ได้ถามตัวเองหรือไม่ว่ายุบพรรคไปจะได้อะไร ซึ่งในระยะสั้นอาจจะทำให้พรรคที่ถูกยุบอ่อนแรงลง ทำให้ฝ่ายค้านอันดับหนึ่งอ่อนแอลง แต่ในระยะยาวขณะเดียวกันมันก็เป็นการติดเทอร์โบ ทำให้พรรคที่ถูกยุบได้แต้มต่อทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้า”
ศาลรธน.ไร้อำนาจยุบพรรค
เช่นเดียวกับ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า “การเติบโตของพรรคก้าวไกล พวกเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับการยุบ หรือ ไม่ยุบพรรค แต่ขึ้นอยู่กับแนวทางการทำงาน และนโยบายที่จะตอบโจทย์ประชาชนได้หรือไม่ นี่คือเรื่องหลัก เราคงไม่หวังให้ตัวเองถูกยุบพรรคเพื่อให้พรรคเติบโตขึ้น เชื่อมั่นว่าถ้าพรรคฝ่าฝันอุปสรรคตรงนี้ไปได้เราก็จะเติบโตและเข้มแข็ง”
พร้อมย้ำว่า “ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่มีบทบัญญัติใดหรือมาตราใดให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคการเมือง แต่อำนาจในการยุบไปปรากฏอยู่ใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง ซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรอง และ ต่ำกว่า
ดังนั้น เรายิ่งเห็นว่ารัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ แค่สั่งให้ยุติการกระทำ ที่ศาลฯ เห็นว่าเป็นการล้มล้างการปกครองแค่นั้น ดังนั้น จุดมุ่งหมายและลำดับศักดิ์ของกฎหมายก็ไม่เท่ากัน แต่โทษที่กำหนดในกฎหมายต่ำกว่า กลับร้ายแรงกว่า ต้องเป็นกรณีจำเพาะมากเท่านั้น จึงจะลงโทษร้ายแรงขนาดนี้ต้องได้สัดส่วน”
บทพิสูจน์ยุบแล้วโต
พรรคก้าวไกล จะถูกยุบพรรคเป็นพรรคการเมือง ลำดับที่ 7 ต่อจาก ไทยรักไทย, พลังประชาชน, ชาติไทย, มัชฌิมาธิปไตย, ไทยรักษาชาติ และ อนาคตใหม่ หรือไม่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” จะเป็นผู้ให้คำตอบ
แต่ในสนามเลือกตั้ง 2 ครั้ง ที่ผ่านมา “พรรคสีส้ม” ผลปรากฏว่า ในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ส.ส.รวม 81 ที่นั่ง แยกเป็น ส.ส.เขต 31 ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 50 ที่นั่ง จากคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 6,330,617 คะแนน
ขณะที่ภายหลัง “อนาคตใหม่” ถูกยุบ แปลงกลายมาเป็น “พรรคก้าวไกล” ในการเลือกตั้ง ปี 2566 ได้ส.ส.รวม 151 ที่นั่ง แยกเป็น ส.ส.เขต 112 ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 39 ที่นั่ง จากคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 14,438,851 คะแนน
ผลการเลือกตั้งชี้ให้เห็นว่า “ยุบแล้วโต” นั้น เกิดขึ้นจริง
แต่การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2570 หรืออีกราว 3 ปีครึ่ง จะเป็นบทพิสูจน์อีกครั้งว่า “ยุบแล้วโต” จะเกิดขึ้นได้จริงอีกหรือไม่
หาก “ก้าวไกล” ถูกยุบพรรคจริงดังคาด...
ศาลรธน.ยุบก้าวไกลได้
ภายหลัง หัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาระบุศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจยุบพรรคก้าวไกล ได้มีหลายคนออกมาแย้งความเห็นของ ชัยธวัช ตุลาธน
สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ระบุว่า เป็นคําร้องใหม่ที่ กกต.พบว่า มีพรรคการเมืองที่มีพฤติกรรมล้มล้างการปกครอง และเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย โดยใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 92 วงเล็บ 1 และ 2
โดย กกต.สามารถส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้ทำการยุบพรรคได้ รวมถึงตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค ซึ่งไม่ได้กำหนดกรอบเวลา อาจจะตัดสิทธิ์ตลอดไปก็ได้ อย่างไรก็ตาม ต้องดูที่คำร้องของ กกต.ว่าเขียนว่าอย่างไร
ขณะที่ ธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ระบุว่า ก่อนที่ นายชัยธวัช จะออกมาพูดแบบชัดถ้อยชัดคำนั้น ได้ศึกษาและดูรายละเอียดข้อกฎหมายในรัฐธรรมนูญมาก่อนแล้วหรือไม่ จะเป็นไปได้หรือที่ กกต. จะยื่นคำร้องไปโดยไม่ทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจ
“ผมเชื่อว่า กกต. ผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรง ในการตรวจสอบพรรคการเมืองนั้น รู้บทบาทและข้อกฎหมายเป็นอย่างดี และล่าสุดอดีต กกต. ก็ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า นายชัยธวัช น่าจะเข้าใจคลาดเคลื่อนและหาก กกต. พบว่ามีพรรคการเมืองที่มีพฤติกรรมล้มล้างการปกครอง สามารถส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ทำการยุบพรรคได้ รวมถึงตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคโดยไม่ได้กำหนดกรอบเวลาด้วย”