KEY
POINTS
กระแสการปรับ “ครม.เศรษฐา1/2” หลังสงกรานต์ ฝุ่นตลบรายวันจากผู้หวังดี-หวังดีประสงค์ร้าย อย่างน้อย 4 เก้าอี้ รองนายกรัฐมนตรี คลัง-กลาโหม และกระทรวงสาธารณสุข
“รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์” อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจการบ้าน 7 เดือน รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ท่ามกลางเมฆ-ฝุ่น การ “ปรับครม.เศรษฐา 1/2”
ต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีปัญหาเศรษฐกิจที่หนัก ต้องการคนที่มีความพร้อมที่จะศึกษา เข้าใจและดำเนินกลุยุทธ์
“ตอนนี้รัฐบาลอยู่ในสภาวะเข้ามาแล้วจับโน่น จับนี่ ยังไม่ค่อยมีอะไรที่...ตอนนี้ประเทศไทยถ้าไปถามนักเศรษฐศาสตร์ทุกคนตอบเหมือนกัน เรามีปัญหาในเชิงโครงสร้าง แต่ยังไม่เห็นนโยบายรัฐบาลที่จะไปแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ อาจจะเป็นเรื่องของฉาบฉวยเท่านั้น”
"รศ.นวลน้อย" ยกตัวอย่างนโยบาย Soft Power ว่า ยังไม่เห็นเป็นภาพใหญ่ เรื่องของ Soft Power เกิดมากจากอิทธิพลบางอย่างที่เกิดขึ้นจากการวางแผนไว้ เช่น การให้เงินช่วยเหลือ การทำเรื่องวัฒนธรรม แต่ของเราออกมาในแบบมาเก็ตติ้งนิดหน่อย
"ในโลกอนาคตการจะขายอะไร โดยเฉพาะเรื่องของการท่องเที่ยวต้องเป็นเรื่องของความคิดสร้างสรรรค์ ควรมีแผนที่ชัดเจน ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะทำเป็นแค่มาร์เก็ตติ้งหรือจะทำเอาจริงเอาจัง”
"รศ.นวลน้อย" ชี้ว่า ปัญหาเศรษฐกิจ "เชิงโครงสร้าง" ที่รัฐบาลต้องเข้าไป "ทำทันที" คือ "ทุนมนุษย์" หรือ คุณภาพคนหรือกำลังของคน เพื่อทำเศรษฐกิจใหม่ ๆ แต่ขณะนี้ยังพึ่งพิงภาคท่องเที่ยว การส่งออก ไม่มีการลงทุนเศรษฐกิจใหม่ เช่น เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพจึงต้องมีคนที่มีคุณภาพ
ทว่าการเป็น “รัฐบาลผสม” 6 พรรค 307 เสียง ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่ได้คุม “กระทรวงมนุษย์” ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงกระทรวงแรงงาน อยู่ในอาณัติของพรรค 71 เสียง-ภูมิใจไทย
“เป็นเรื่องที่รัฐบาลตัดสินใจแบ่งกันเอง ใครเป็นคีย์ที่จะนำเรื่องนี้ ถ้ารัฐบาลพรรคหลักที่จะต้องเป็นคีย์ก็ต้องดูว่าจะผลักดันนโยบายอย่างไรให้ไปด้วยกัน”
รัฐมนตรีตอนนี้ Put the right man on the right job หรือไม่-ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้อง "ปรับครม.เศรษฐา1/2" ? “รศ.นวลน้อย” ไม่ตอบตรงแต่เข้าเป้าว่า ควรจะต้องทำ เพื่อให้ถูกฝาถูกตัว เพราะหลายกระทรวงไม่ได้ยินข่าว ใครเป็นรัฐมนตรียังจำไม่ได้ ทั้งที่ติดตามข่าวทุกวัน
“แค่นายกฯมานั่งเป็นรัฐมนตรีคลังก็น่าจะทำให้การดำเนินการซึ่งรัฐมนตรีคลังมีบทบาทสำคัญลดความร้อนแรงลงเยอะ เพราะนายกฯต้องไปทำภาพรวม เมื่อเทียบกับรัฐบาลชุดอื่น ๆ รัฐมนตรีคลังมีบทบาทเยอะในการผลักดันเรื่องต่าง ๆ”
การสวมบทเป็น “เซลล์แมน” ของ “เศรษฐา” กับนโยบาย “เรือธง” เกี่ยวกับการท่องเที่ยว “รศ.นวลน้อย” ถามกลับว่า “แล้วเอาอะไรไปขาย ไปขายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีความพร้อม เราดีกว่าประเทศอื่นตรงไหน”
“การไปประชาสัมพันธ์ให้ทั่วโลกรู้ว่าเราจะสนับสนุนแนวนโยบายนี้ (โครงการแลนด์บริดจ์ , ยานยนต์ไฟฟ้า) เป็นเรื่องดี แต่คนจะมาหรือไม่ หรือ เปรียบเทียบสิ่งเหล่านี้ เราไม่ใช่ประเทศเดียวที่ขาย ประเทศอื่น ๆ ก็ขายเช่นเดียวกัน นักลงทุนจะเปรียบเทียบว่าประเทศไหนมีความพร้อมมากกว่ากัน อันไหนเป็นประโยชน์มากกว่ากัน โดยเฉพาะความพร้อมของประเทศนั้น ๆ ที่จะมาสนับสนุนนักลงทุน”
เรื่องทำเล “ภูมิรัฐศาสตร์” และ “ความเป็นกลาง” ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด บนเวทีการเมืองระหว่างประเทศมหาอำนาจ “คนทำเนียบ” มักยกขึ้นมาเป็น “จุดขาย” รศ.นวลน้อย ไม่เห็นด้วยมากกว่าเห็นด้วย เพราะคนที่ลงทุนให้น้ำหนักเรื่องนี้อยู่ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดที่จะตัดสินใจ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำลังแรงงานที่จะซับพอร์ตนักลงทุน เรามีแรงงานทักษะฝีมือที่จะสนับสนับหรือเปล่า เมื่อเทียบกับเวียดนามที่มีทักษะแรงงานฝีมือเพิ่มขึ้นมาก แม้ว่ามีระบบการปกครองแบบสังคมนิยมแต่นักลงทุนรู้สึกว่าไม่เป็นปัญหา โครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทาง คมนาคม กำลังปรับปรุง ลงทุนใหญ่ อีกไม่กี่ปีเวียดนามจะแซงหน้าเรา
“ความสำเร็จคงไม่ใช่เรื่องของการไปขายเพียงอย่างเดียว การขายเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งที่ต้องทำ แต่ไม่ใช่เป็นเครื่องการันตีความสำเร็จ”
นอกจากระยะทางไปสู่ความสำเร็จของนโยบายเศรษฐกิจที่ยังต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ฝีมือรัฐบาลเศรษฐาแล้ว ศึกใหญ่-ความขัดแย้งระหว่างนายเศรษฐา รมว.คลัง ผู้กุมบังเหียนนโยบายการคลัง กับ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ “แบงก์ชาติ” ที่ถือกระบองนโยบายการเงิน ในเรื่องปมลด-ไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย
โดยการประชุมคณะกรรมนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 10 เมษายน 67 มีมติ 5 ต่อ 2 ให้คงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.50 %
“รศ.นวลน้อย” มองว่า ด้วยโครงสร้างของธนาคารกลางกับรัฐบาลทุกประเทศ พยายามออกแบบให้ธนาคารกลางมีอำนาจในการตัดสินใจเป็นอิสระเพื่อให้คานกัน
“ถ้ารัฐบาลสั่งแบงก์ชาติได้ ก็แสดงว่า .... ส่วนใหญ่รัฐบาลมีปัญหาเรื่องของการสั่งการ เพราะรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง จึงไม่สามารถปฏิเสธเรื่องกลุ่มผลประโยชน์ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องการให้อีกขาหนึ่งของนโยบาย คือ นโยบายการเงินเป็นอิสระ เพื่ออย่างน้อยที่สุดก็สามารถทัดทานไว้ได้ การที่จะให้ประเทศเป็นที่เชื่อถือ ต้องทำให้นโยบายการเงินเป็นอิสระในการตัดสินใจ”
“รศ.นวลน้อย” ชี้แนะทางออก ว่า ต้องไปคุยกันและมองภาพเศรษฐกิจให้ตรงกัน หากทั้งสองฝ่ายมองภาพเศรษฐกิจตรงกัน นโยบายจะออกมาเหมือนกัน แต่ถ้ามองไม่ตรงกันคือประเด็น ไม่ใช่เป็นเรื่องของตัวนโยบายที่ออกมาแล้ว แต่เป็นประเด็นเริ่มต้นที่เกิดจากการมองภาพเศรษฐกิจไม่ตรงกัน
“เป็นสิ่งที่ต้องคุยกันว่า มองภาพเศรษฐกิจกันอย่างไร ไม่จำเป็นต้องมาคุยข้างนอกแบบนี้ และไม่ใช่คุยกันว่ารัฐบาลมีนโยบายแบบนี้ ทำไมแบงก์ชาติไม่ทำตาม ไม่ใช่เป็นวิธีการดำเนินการที่ถือว่าให้ฝั่งการเงินมีความเป็นอิสระ แต่จะกลายเป็นว่าอยู่ภายใต้รัฐบาล ต้องให้ความเป็นอิสระ ให้ความเป็นมืออาชีพกับแบงก์ชาติ ถ้าคิดว่าเป็นปัญหาต้องมานั่งคุยกันว่า เมื่อมองภาพเศรษฐกิจตรงกัน การตัดสินใจจะใกล้เคียงกัน”รศ.นวลน้อยทิ้งท้าย