กฎหมายเวนคืนใหม่ เจ้าของที่ดินใต้รถไฟฟ้า เฮไม่ต้องย้ายบ้าน

26 เม.ย. 2567 | 02:10 น.
อัปเดตล่าสุด :26 เม.ย. 2567 | 02:12 น.

ครม.เคาะกฎหมายเวนคืนใหม่ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดเงินค่าทดแทนภาระในอสังหาริมทรัพย์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและให้ความเป็นธรรมให้แก่ประชาชน โดยเจ้าของที่ดินใต้รถไฟฟ้า ยังสามารถใช้สอยอสังหาริมทรัพย์ได้

วันนี้ (26 เมษายน 2567) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนภาระในอสังหาริมทรัพย์บน เหนือพื้นดินหรือพื้นน้ำในกิจการของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... ตามที่ กระทรวงคมนาคมเสนอ ซึ่งถือเป็นกฎหมายเวนคืนใหม่ ที่ให้ประโยชน์กับผู้ได้รับผลกระทบมากขึ้น โดยขั้นตอนต่อจากนี้ให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ 

สำหรับความจำเป็นของการออกกฎหมาย เนื่องจากการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีความจำเป็นต้องเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของประชาชนที่อยู่ในแนวสายทางรถไฟฟ้า เพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟฟ้าที่อยู่บน เหนือพื้นดินหรือพื้นน้ำ แต่ในระยะหลัง เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวได้มีการร้องขอให้ รฟม. พิจารณากำหนดภาระในอสังหาริมทรัพย์แทนการเวนคืน ในกรณีที่ รฟม. เข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ 

ส่งผลให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้นสามารถใช้สอยอสังหาริมทรัพย์ได้ลดน้อยลงจากปกติ แต่ไม่ถึงขนาดที่จะต้องมีการเวนคืน เพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมด โดยเจ้าของยังสามารถใช้สอยอสังหาริมทรัพย์ได้ แต่ไม่สามารถใช้สอยได้ตามปกติ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน และประหยัดงบประมาณจากการที่จะต้องจ่ายค่าทดแทนจากการเวนคืน โดยที่ยังไม่มีกฎกระทรวง เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทน 


ดังนั้นกระทรวงคมนาคม จึงเห็นควรให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดเงินค่าทดแทนภาระในอสังหาริมทรัพย์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน และเพื่อให้ประชาชนได้รับค่าทดแทนภาระในอสังหาริมทรัพย์แทนการเวนคืนที่ดินในจำนวนที่เหมาะสมและเป็นธรรม จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวง มาให้ครม.พินารณา


สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง อาทิ หลักเกณฑ์การพิจารณาราคาที่ดินที่จะนำมากำหนดค่าทดแทนให้คณะกรรมการคำนึงถึงราคา ขนาด ที่ตั้ง สภาพและลักษณะการใช้ประโยชน์ประกอบกัน ดังนี้ 

1.ราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด ณ วันที่คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทน 

2.ราคาประเมินที่ดินของทางราชการที่กำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 

3.ขนาด ที่ตั้ง สภาพและลักษณะการใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ 

4.สภาพการใช้ที่ดินในบริเวณใกล้เคียงกับที่ดินนั้น


“เพื่อให้การดำเนินการตามร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเดินหน้าสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง ตลอดจนความจำเป็นและประโยชน์ที่จะได้รับจาการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดดังกล่าวให้แก่ประชาชนได้รับทราบในโอกาสแรก” นาง​รัดเกล้า​ กล่าว