วันที่ 29 เมษายน 2567 นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า กรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เสนอชื่อ นายพิชิต ชื่นบาน ให้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศลงวันที่ 28 เมษายน 2567 แต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น
สืบเนื่อง จากนายพิชิต ชื่นบาน เคยถูกสภาทนายความถอดชื่อออกจากทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพทนายความเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกาสั่งจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2551 กรณีพยายามนำถุงขนมใส่เงินสดจำนวน 2 ล้านบาท ไปมอบให้เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาคดีแผนกอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในระหว่างการพิจารณาคดีที่ดินรัชดาฯ ของ นายทักษิณ ชินวัตร และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4599/2551ได้วินิจฉัยชี้ขาดว่า
“…มีเจตนาที่จูงใจให้......และเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ ซึ่งอาจเชื่อมโยงไปเป็นประโยชน์แก่จำเลยในคดีหมายเลขดำที่ อม. 1/2550 การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา.... จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) , 33 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
..การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา.... เป็นการกระทำที่อุกอาจ ท้าทายและเกิดขึ้นที่ศาลฎีกา ซึ่งเป็นศาลยุติธรรมชั้นสูงสุดของประเทศ ผู้ถูกกล่าวหา.....ประกอบอาชีพทนายความ และที่ปรึกษากฎหมาย ย่อมตระหนักดีว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา... จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบันศาลยุติธรรมและจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือและความศรัทธาในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรในอำนาจตุลาการ จึงเห็นสมควรลงโทษในสถานหนัก เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างอีกต่อไป....”
คำวินิจฉัยของศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้น ทำให้เห็นว่า นายพิชิต ชื่นบาน ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ดังนั้น การที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เสนอชื่อ นายพิชิต ชื่นบาน ให้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ส่อว่ากระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 หรือไม่ ดังนี้
ข้อ 5 ต้องยึดมั่นและธํารงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ข้อ 8 ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตําแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
ข้อ 12 ยึดมั่นหลักนิติธรรม และประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีของประชาชน
ข้อ 13 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม เป็นอิสระ เป็นกลาง และปราศจากอคติโดยไม่หวั่นไหวต่ออิทธิพล กระแสสังคม หรือแรงกดดันอันมิชอบด้วยกฎหมาย โดยคํานึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมแห่งสถานภาพ
ข้อ 17 ไม่กระทําการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดํารงตําแหน่ง
ข้อ 19 ไม่คบหาสมาคมกับคู่กรณี ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติหรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่