สื่อนอกวิเคราะห์ปรับครม. เศรษฐาเลือก “พิชัย” คุมคลัง ลดแรงปะทะธปท.

30 เม.ย. 2567 | 07:57 น.
อัปเดตล่าสุด :30 เม.ย. 2567 | 11:58 น.

การปรับครม.โดยหนึ่งในตำแหน่งที่มีการปรับเปลี่ยนคือ นายพิชัย ชุณหวชิร ผู้มีประสบการณ์ด้านตลาดทุน มาเป็นรัฐมนตรีคลังคนใหม่ควบรองนายกรัฐมนตรี สื่อนอกมองว่า การเปลี่ยนหมากบนกระดานครั้งนี้ อาจจะช่วยบรรเทาความตึงเครียดระหว่างตัวนายกฯ กับ ธปท. เกี่ยวกับนโยบายการเงิน

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทยซึ่งเดิมควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วยอีกตำแหน่ง ได้มอบหมายให้ นายพิชัย ชุณหวชิร วัย 74 ปี อดีตที่ปรึกษานายกฯ ผู้มีประสบการณ์คร่ำหวอดในฐานะผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์และผู้บริหารบริษัทเอกชนหลายรายในตลาดทรัพย์ เข้ามาสานต่อหน้าที่ในตำแหน่ง รัฐมนตรีคลังควบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี โดยมีผลทันทีในประกาศ ปรับคณะรัฐมนตรี ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (28 เม.ย.)

“ความท้าทายเร่งด่วนของพิชัยคือการลดความตึงเครียดที่เกิดขึ้นกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยนายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี ได้ปะทะ (ทางความคิดเห็น) กับธนาคารกลางในเรื่องที่ธปท.ไม่เต็มใจที่จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นการเติบโตและแบ่งเบาภาระของผู้กู้ยืม” บลูมเบิร์กยังวิเคราะห์ว่า นายพิชัยในฐานะขุนคลังคนใหม่ ยังจำเป็นจะต้องเอาชนะแรงต่อต้านคัดค้านแผนดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลที่จะแจกเงิน 10,000 บาท (ประมาณ 270 ดอลลาร์) ให้กับคนไทย 50 ล้านคนช่วงปลายปีนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะมีการขยายตัวที่อัตรา 2.7% ในปีนี้ ซึ่งเป็นการเติบโตในอัตราที่ตามหลังประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ในอาเซียน

ความท้าทายเร่งด่วนของนายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีคลังคนใหม่ คือการลดความตึงเครียดที่เกิดขึ้นกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

บลูมเบิร์กระบุว่า ทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจที่ซบเซา และความขัดแย้งในระดับผู้กำหนดนโยบาย ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ทำให้ตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงขณะนี้ มีการเทขายพันธบัตรและหุ้นไทยมูลค่ากว่า 3,000 ล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกัน เงินบาทที่เคยเป็นสกุลเงินที่แข็งแกร่งที่สุดสกุลหนึ่งในเอเชียเมื่อช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 ขณะนี้ ได้กลายเป็นหนึ่งในสกุลเงินยอดแย่ ที่อ่อนค่าลงมาแล้ว 7.6% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

และอีกหนึ่งสัญญาณของความตึงเครียดภายในรัฐบาล คือการยื่นหนังสือขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของนายปานปรีย์ พหิทธานุกร เมื่อวันอาทิตย์ (28 เม.ย.) หลังเขาถูกริบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีไปในการปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

สื่อต่างประเทศฉายภาพนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ ที่เดินทางตระเวนไปทั่วโลกเพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ พยายามผ่อนปรนกฎเกณฑ์ต่างๆที่เข้มงวดให้ง่ายขึ้นเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังพยายามผลักดันมาตรการที่จะช่วยปลดหนี้ให้กับเกษตรกรและนักเรียน-นักศึกษา เป้าหมายเพื่อยุติทศวรรษแห่งการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่ต่ำกว่า 5 % มาโดยตลอด ด้วยเหตุนี้เขาจึงไม่พอใจที่ธปท. เอาแต่ปฏิเสธที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลงมา นอกจากนี้ ธปท.ยังคัดค้านแผนการแจกเงินซึ่งเป็นพันธกิจที่พรรคเพื่อไทยต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งอีกด้วย

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นต่างเกี่ยวกับนโยบายการเงิน

ทั้งนี้ ธปท. ได้คงอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานในการประชุมมาสามครั้งติดต่อกันแล้ว โดยการประชุมล่าสุดเมื่อวันที่ 10 เม.ย. ธปท.คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่อัตราเดิม แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามเรียกร้องให้ปรับลดดอกเบี้ยลงมา โดยธปท. ให้เหตุผลว่า ปัญหาบางประการที่ขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยนั้นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และจะไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยนโยบายทางการเงิน ขณะเดียวกันก็มองว่า อัตราเงินเฟ้อที่ติดลบ หลายเดือนติดกันเป็นผลจากมาตรการอุดหนุนของภาครัฐ

นี่เป็นการปรับครม.ครั้งแรกของรัฐบาลเศรษฐาที่เพิ่งเข้าบริหารบ้านเมืองได้ไม่ถึง 1 ปี โดยตัวเขาเองได้รับแต่งตั้งภายหลังเกิดภาวะ “ทางตัน” ทางการเมืองเป็นเวลานานนับเดือนหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2566

สำหรับนายพิชัย ชุณหวชิร นั้น เขาเป็นคนใกล้ชิดที่เคยเป็นที่ปรึกษาของนายเศรษฐา และเป็นประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก่อนที่เขาจะลาออก เพื่อมารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลัง

จากความที่เป็นผู้มีประสบการณ์ มีความรู้ความเข้าใจนโยบายด้านเศรษฐกิจ และจากประสบการณ์ที่ได้ทำงานร่วมกับภาคเอกชนมาอย่างยาวนาน เชื่อว่าเขาจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการเดินหน้านโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลได้

 

ข้อมูลอ้างอิง