“เงินดิจิทัล 10,000 บาท” เจอตอปม พรบ.เงินตรา ทำผิดโทษหนักถึงคุก

30 เม.ย. 2567 | 08:35 น.

โครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet นโยบายเรือธงรัฐบาล มีความเสี่ยงอาจจะขัดต่อ พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ซึ่งถ้าผิดจริง ผู้ที่เกี่ยวข้องอาจเจอโทษหนักถึงติดคุก

โครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet แม้จะผ่านการเห็นชอบในหลักการจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาหมาด ๆ แต่ก็ถูกติงแรงจาก “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ทั้งกลุ่มเป้าหมาย แหล่งเงิน ความคุ้มค่า ภาระทางการคลัง รวมไปถึงความเสี่ยงที่อาจจะขัดต่อ พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 

ทั้งนี้ ธปท. ระบุไว้ภายใต้หนังสือ ที่ออกโดยฝ่ายกฎหมาย ธปท.ฝกม. 285/2567 เรื่อง โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ตอนหนึ่งเพื่อเป็นความเห็นประกอบการพิจารณาในครม. ว่า สิทธิการใช้จ่ายภายใต้โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะต้องไม่ขัดแย้งกับการควบคุมระบบเงินตรา โดยมูลค่าสิทธิใช้จ่ายที่รัฐบาลกำหนดขึ้น จะต้องมีงบประมาณรองรับเต็มจำนวน (fully earmarked) และมีแหล่งที่มาของเงินที่เจาะจงชัดเจนในวันเริ่มโครงการ 

โดยหากรัฐบาลยังไม่สามารถ earmark งบประมาณเต็มมูลค่าสิทธิรวมในวันเริ่มโครงการด้วยเหตุใด ๆ เช่น ไม่สามารถนำเงินงบประมาณส่วนใดมาใช้ได้ตามเงื่อนไขของกฎหมาย หรือมีความล่าช้าในการพิจารณาอนุมัติ จะมีผลให้การกำหนดสิทธิใช้จ่ายในส่วนที่ไม่มีงบประมาณรองรับเป็นการสร้างวัตถุหรือเครื่องหมายแทนเงินตรา ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501

 

ภาพประกอบข่าว โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

จากการตรวจสอบข้อกฎหมายที่กำหนดไว้ภายใต้ พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ถือเป็นกฎหมายสำคัฐ กำหนดให้ ธปท. มีหน้าที่ในการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ ตลอดจนรักษาไว้ซึ่งทุนสำรองเงินตราตามกฎหมาย เพื่อเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของค่าเงินบาท 

อีกทั้งยังมีหน้าที่ออกแบบและจัดพิมพ์ธนบัตร ออกใช้ธนบัตร รับแลกเปลี่ยนธนบัตรชำรุด เพื่อให้ประชาชนมีธนบัตรอยู่ในสภาพดีใช้ รวมถึงดูแลการหมุนเวียนของธนบัตรให้มีปริมาณที่เพียงพอ และเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ

โดยข้อกังวลของ ธปท. ที่ระบุไว้ภายใต้หนังสือ ธปท.ฝกม. 285/2567 ว่า การดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต อาจมีความเสี่ยงเป็นความผิดตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 กรณีไม่สามารถนำเงินงบประมาณส่วนใดมาใช้ได้ตามเงื่อนไขของกฎหมาย หรือมีความล่าช้าในการพิจารณาอนุมัติ จะมีผลให้การกำหนดสิทธิใช้จ่ายในส่วนที่ไม่มีงบประมาณรองรับเป็นการสร้างวัตถุหรือเครื่องหมายแทนเงินตรานั้น 

ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 กำหนดว่าห้ามมิให้ผู้ใดทำจำหน่าย ใช้หรือนําออกใช้ ซึ่งวัตถุหรือเครื่องหมายใด ๆ แทนเงินตรา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี

ทั้งนี้หากฝ่าฝืน ตามกฎหมายได้กำหนบทลงโทษ ตามมาตรา 35 ระบุว่า ผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 9 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านรายละเอียด : พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501

อย่างไรก็ตาม มติครม. ครั้งนี้ได้มอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัลฯ กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับความเห็น และข้อสังเกตของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) 

โดยให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วน รวมถึงจัดให้มีการติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์และรายงานผลการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวอย่างเหมาะสม และทันต่อสถานการณ์โดยเคร่งครัด 

อีกทั้งควรพิจารณากำหนดแนวทางในการพิจารณาลดผลกระทบทางการคลังในระยะต่อไป โดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดเก็บรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด และควรมีการประเมินผลในช่วงระหว่างการดำเนินโครงการ เพื่อให้สามารถปรับการดำเนินโครงการให้สอดคล้องกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างดำเนินโครงการ และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และทำการประเมินผลภายหลังจากการดำเนินโครงการแล้วเสร็จ 

เช่นเดียวกับการจัดทำแพลตฟอร์มเพื่อใช้ในการดำเนินการโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ตฯ ควรให้ความสำคัญกับข้อกำหนดในการรักษาเสถียรภาพของระบบและการรักษาความปลอดภัย โดยการจัดทำระบบควรเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนและนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติม 

พร้อมทั้งจัดทำแนวทางหรือมาตรการแก้ไขประเด็นปัญหาหรือความเสี่ยงต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมด้วย ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาให้ความเห็นชอบในกรอบหลักการของโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ตฯ ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป