นับตั้งแต่มีชื่อ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นหนึ่งในรัฐมนตรีที่ถูกให้พ้นจากตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ล่าสุด นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ออกมาบอกเล่าความในใจชี้แจงข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "ชลน่าน ศรีแก้ว" รวมถึงประเด็นร้อน กรณีที่เพจ ชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ข้อความลักษณะที่อาจทำให้สังคมเข้าใจผิดเกี่ยวกับการพ้นจาก ตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข ซึ่งมีใจความระบุว่า
ก่อนอื่นผมต้องขอบคุณ เพจแพทย์ชนบท ที่โพสตให้กำลังใจผม และท่านรัฐมนตรีสมศักดิ์ เทพสุทิน แต่ก็มีบางอย่างที่ผมคิดว่า ข้อมูลยังคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปมาก ซึ่งในสถานการณ์ที่ผมถูกออกปลดออกจากรัฐมนตรี ชมรมแพทย์ชนบทไม่ควรใช้สถานการณ์นี้ออกมาสร้างความแตกแยกในกระทรวงอีก ขอให้ยุติการกระทำ ซึ่ง นพ.สุภัทร ได้โทรศัพท์มาหาผม และยอมรับว่า เขียนและให้สัมภาษณ์จากความเห็นของตนเองและคนในกลุ่ม
ผมได้ติงไปแล้วว่า การพูดจากความเห็นส่วนตัวแทนผมซึ่งไม่ใช่ข้อมูลจริงไม่สมควรก็ยอมรับและขอโทษ ผมไม่อยากให้ปัญหาส่วนบุคคลลุกลามสร้างปัญหาให้ระบบ
เรื่องที่ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊คชมรม ระบุว่า ระดับบิ๊กอืดยังไม่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง โดยยกเอาคำพูดของผมที่ รพ.อุทัย ว่า เอาข้าราชการไม่อยู่ จริง ๆ สิ่งที่ผมพูด คือ ท่านนายกให้รัฐมนตรีทุกคน ต้องกำกับดูแลควบคุมข้าราชการให้อยู่ให้ทำงานอย่างเต็มที่
ผมเองชื่นชมผู้บริหารและข้าราชการของกระทรวงฯ ทุกคนที่เร่งรัดทุ่มเท การทำงานดีมาก ให้คะแนน ก็ 80 คะแนนขึ้นไป ระดับ A+ สนองนโยบาย สำเร็จตามเป้าหมาย Quick win 100 วัน ได้ทั้ง 13 นโยบาย ขับเคลื่อนเข้าสู่ Mid year succes ได้อย่างเป็นรูปธรรม ผมเน้นประเด็นนี้ แต่สื่อที่นำไปเผยแพร่ ตัดบางช่วงคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง เป็น " ผมมีผลงานระดับ A+ ผมคุมข้าราชการไม่อยู่ จึงถูกปลดออกจาก ครม." อันนี้เป็นเรื่องที่ผมต้องชี้แจง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ข้าราชการ น้อง ๆ ที่ทำงานในสธ.ครับ
ส่วนประเด็นระดับบิ๊ก อืดไม่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลง เรื่องนี้ ผมใช้ผลงานเป็นตัววัด ไม่ให้ความสำคัญ กับคำว่า "คนของใคร" ไม่ต้องมาเป็นคนของผม ขอให้เป็น "คนของประชาชน" ทำงานเพื่อประชาชน ก็พอ ไม่สนใจว่า "แมวขาวหรือแมวดำ" ขอให้ "จับหนู" ได้ก็พอ
241 วันในการทำงานที่กระทรวงสาธารณสุข ผมให้การสนับสนุน เรื่องการแสดงความเคารพนับถือ การเข้าพบปะเยี่ยมเยียน การดูแลสุขภาพ การเจ็บป่วยของท่าน อดีตรัฐมนตรี อดีตปลัดกระทรวง ในเวลาและเทศกาลที่เหมาะสม และทำให้น้อง ๆ ได้เห็นว่า เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งควรกระทำ
ส่วนปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างชมรมแพทย์ชนบทกับผู้บริหารกระทรวงเป็นปัญหาเดิมที่มีมาหลายปี ถ้าจำได้ เรื่องแรก ๆ ที่ผมทำ คือ พยายามสลายความขัดแย้ง เพื่อให้ทำงานไปต่อได้ มีการเชิญทั้งผู้บริหารและน้องๆแพทย์ชนบทมาทานข้าวด้วยกันด้วยซ้ำ
ผมพยายามแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับทุกฝ่าย ทั้งชมรม รพศ/รพท. ชมรมนายแพทย์ สสจ. ชมรมผู้อำนวยการ รพช. ชมรมลูกจ้าง ชมรม สสอ. สภาวิชาชีพ เพื่อให้ ทุกฝ่ายมุ่งหน้า ทำงานรับใช้ บริการประชาชนให้ดีที่สุด
เรื่องถูกวางยาให้เป็นคู่ขัดแย้งกับ สปสช. นับตั้งแต่ผมเข้ามาทำงานไม่เคยเป็นคู่ขัดแย้งกับ สปสช. ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. สามารถทำงานกับ เลขาสปสช.ได้เป็นอย่างดี เลขาสปสช. ทำหน้าที่ในกรอบกฎหมายกำหนด ตอบสนองนโยบายเรือธง "ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว" ขับเคลื่อนวางงบประมาณรองรับอย่างเป็นระบบโดยเฉพาะนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น รับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน บริการทันตกรรมที่คลินิกทันตกรรมที่เข้าร่วมโครงการได้
โดยนโยบายนี้เริ่มดำเนินการทันทีหลังแถลงนโยบาย 7 ม.ค 67 แต่การดำเนินงานจำเป็นต้องนำร่อง และขับเคลื่อนเป็นเฟส ทั้งหมด 4 (เฟส) บนพื้นฐานความพร้อม เชิงระบบเทคโนโลยี ระบบงบประมาณ และมาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยเฟส 1 นำร่อง 4 จังหวัด เฟส 2 ขยายเพิ่ม อีก 8 จังหวัด ซึ่งจำเป็นต้องขอใช้งบกลาง จำนวน 1,200 ล้านบาท เพราะนวัตกรรมใหม่ ๆ ไม่ได้มีการตั้งงบประมาณไว้ จึงให้ใช้งบประมาณในแผนงบประมาณปี 66 ไปพลางก่อน
ส่วนเฟส 3 เพิ่ม อีก 33 จังหวัด ตั้งงบประมาณปี 67 รองรับ เริ่มขับเคลื่อน เดือน พ.ค 67 เป็นต้นไปเฟส 4 จังหวัดที่เหลือ ตั้งงบประมาณ ปี 68 รองรับ ขับเคลื่อน เดือน ต.ค 67 เป็นต้นไป
เรื่องวางยาให้กระทรวงสาธารสุข ไปมีอำนาจในการจัดสรรเงิน ผมคิดว่าไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะมีกฎหมาย กฎ ระเบียบกำหนดหน้าที่และอำนาจไว้ชัดเจน ว่าการจัดสรรจ่ายเงินเป็นอำนาจ หน้าที่ ของ สปสช. ตามมติบอร์ด
ข้อเสนอหลาย ๆ เรื่อง ที่บอร์ด สปสช. ไม่เห็นด้วยถูกขับเคลื่อนและได้รับความเห็นชอบในยุคที่ผมเป็นประธาน เช่น คณะอนุกรรมการพัฒนาและสนับสนุนหน่วยบริการในการให้บริการสาธารณสุข ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (เดิม เสนอเป็น Provider board : กก.ผู้ให้บริการ แต่ไม่ผ่านความเห็นชอบ)
ชมรมแพทย์ชนบทเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนนำเรื่องนี้ไปพูดว่า สธ. อยากไปมีส่วนร่วมกับการจัดสรรเงินซึ่งไม่จริง จริง ๆ แล้วเป็นคนละส่วน คนละบทบาทหน้าที่ ทั้งสองฝ่ายทำงานได้ดี ผมอยู่ตรงกลาง สธ.ลุยทำงาน สปสช.สนับสนุนเงินทำงาน เป็นเรื่องที่กำลังไปได้ดี ข้าราชการขยันเดินตามทุกครั้งที่ผมออกไปปฎิบัติหน้าที่มีคำสั่งให้ออกไปปฏิบัติราชการ ติดตามงานนโยบายททุกครั้ง แม้แต่กลับไปพื้นที่ ที่ จ.น่าน ผมก็ไปราชการไม่เคยไปเรื่องส่วนตัว
ผมและคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำ ออกทำงานดูแลพี่น้องประชาชน ในโครงการ "พาหมอไปหาประชาชน เฉลิมพระเกียรติ พระบาสมเด็จพระเจ้าอยู่ฯ 6 รอบ 72 พรรษา 28 ก.ค 2567 " ทุกวันหยุดสุดสับดาห์ เสาร์ อาทิตย์ โดยทีมแพทย์เฉพาะทาง และบุคคลากรสาธารณสุข จิตอาสา ตรวจคัดกรอง รักษา ฟื้นฟูสภาพ ติดตามดูแลโรคเฉพาะด้านเฉพาะทาง จึงมีความจำเป็นที่ผู้บริหารจะต้องติดตามไปกับผมตลอด
งานหลายอย่างได้แนวคิดมาจากการปรึกษากันบนรถระหว่างผมและผู้บริหารเจ้าของพื้นที่ ผมสนับสนุน ให้ดำเนินการหลายเรื่องเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจความเชื่อความศรัทธาเดียวกัน เป็นพลังในการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะนโยบาย ดูแลสุขภาพพระสงฆ์ ผู้นำศาสนา สถานชีวาภิบาล กุฏิชีวาภิบาล มีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องเข้าถึง พระสงฆ์ ผู้นำศาสนา
เรื่อง เกียร์ว่าง ละเลยปฐมภูมิ แก้ปัญหายาเสพติดสะดุด สาธารณสุขรากฐานไม่ก้าวหน้า กระจายอำนาจสับสน ปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากปัญหาเชิงระบบ ที่เกิดขึ้นก่อนผมเข้ามารับตำแหน่ง
ผมเองเป็นคนที่เข้ามาจัดการแก้ปัญหา เร่งรัดให้ดำเนินการตามกฎหมาย อย่างเช่น ระบบปฐมภูมิ กฎหมายออกตั้งแต่ปี 2562 แต่กฎหมายลูกที่จะใช้ขับเคลื่อนยังไม่เสร็จหลายฉบับ จากปัญหาเชิงระบบ ผมมารับตำแหน่ง ก็ได้เร่งขับเคลื่อนให้มีการจัดทำกฎหมายลูกให้เสร็จเตรียมประกาศเพื่อใช้บังคับ เร่งรัดการขึ้นทะเบียน ผู้รับผู้ให้บริการ การกำหนดพื้นที่ กำหนดหน่วยบริการรับผิดชอบต่อไป
การบำบัดรักษาฟื้นฟูยาเสพติด เป็นอีกงานที่ขับเคลื่อนได้ยาก เพราะไม่มีกฎกระทรวงรองรับ ให้สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา โดยไม่ถูกตีตรา เป็นคดี จะได้ดำรงชีวิตในสังคมได้เหมือนคนปกติ ทั้งที่มีกฎหมายประมวลยาเสพติดตั้งแต่ ปี 2564 พยายามเสนอกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาบ้า เพื่อสันนิษฐานว่า มีไว้เพื่อเสพถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก เสนอ 15 เม็ด ไม่ผ่าน ครม.กลับมาทำใหม่ เสนอ 1 เม็ด ก็ไม่ผ่านครม. จนมาถึงรัฐบาลนายกเศรษฐา ทวีสิน ครม.ให้ความเห็นชอบไม่เกิน 5 เม็ด
ผมในฐานะรัฐมนตรีสาธารณสุข เป็นผู้ลงนาม ในกฎกระทรวง ตามกฎหมายกำหนด ได้เร่งรัดใหัมีสถานบำบัด และชุมชนเป็นฐานในการบำบัดรักษา CBTx มีผู้เข้ารับการบำบัดรักษาถึง 70,000 คน
ผมได้พูดกับคุณหมอสุภัทร ไปแล้วว่า การออกมาให้ข้อมูลทางสื่อ Social โดยอาศัยจังหวะที่ผมถูกปลดออกจากรัฐมนตรี เพื่อขยายความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม กล่าวหาอีกกลุ่มหนึ่ง ถือว่าไม่เหมาะสม คุณหมอสุภัทรเองก็เข้าใจแล้ว และบอกว่า จริง ๆ ตั้งใจจะให้กำลังใจผม ซึ่งผมก็ขอขอบคุณ แต่ให้ระมัดระวังในการเขียนเนื้อหาที่บางทีมาจากความไม่รู้ อาจจะบิดเบือน ทำให้มองได้ว่า ผมเป็นคนไม่มีความรู้ความสามารถ คุมข้าราชการไม่ได้ ถูกวางยา ทำให้งานไม่บรรลุเป้าหมายซึ่งทำให้ผมเสียหาย โดยเฉพาะความไว้วางใจและความเชื่อมั่นจากพี่น้องประชาชน ผมจึงขออนุญาตขอชี้แจงเพื่อปกป้อง ไม่ให้เกิดความเสียหาย ไม่เกิดความแตกแยก และไม่ให้ผมถูกทำลายไปมากกว่านี้