เร็วที่สุดในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 สมาชิกวุฒิสภา (สว.) 200 คน ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 กฎ-กติกาที่ซับซ้อนที่สุดในโลกจะเข้ามาทำหน้าที่ หลังจาก สว.250 คน ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 60 จะครบวาระ 5 ปี ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567
สำหรับหน้าที่และอำนาจของ สว.200 คน ถึงแม้จะไม่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีเหมือนกับ สว.ตามบทเฉพาะกาล แต่ก็ยังมี “อำนาจล้นฟ้า” เพราะมีอำนาจในการให้ความเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ องค์กรชี้ขาดการอยู่-การไปของนักการเมือง-รัฐบาล
การพิจารณาและการกลั่นกรองกฎหมาย ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา (สส.และสว.) และการพิจารณากฎหมายหลังจาก สส.พิจารณากฎหมายในวาระที่สามแล้ว
- ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ โดยวาระที่หนึ่งและวาระที่สองต้องใช้เสียงข้างมาของรัฐสภา ส่วนวาระที่สามใช้เสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภา
- ร่างพระราชบัญญัติ
- ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่าย ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย
- อนุมัติพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ได้แก่ พ.ร.ก.ทั่วไป พ.ร.ก.เกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตรา
- การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญจากสส.และสว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสองสภา การใช้เสียงเห็นชอบในวาระที่หนึ่งและวาระที่สามต้องมี สว.เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดของ สว.
การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 150 มาตรา 153 มาตรา 155 เกี่ยวกับการทำงานของรัฐมนตรี โดยจะถามเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้
- ตั้งกระทู้ถาม
- การเปิดอภิปรายทั่วไป ในวุฒิสภา ตามมาตรา 153 โดยมีสิทธิ์เสนอชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ขอเปิดอภิปรายทั่วไป โดยไม่มีการลงมติ
- การเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภา ตามมาตรา 155 กรณีมีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยหรือเศรษฐกิจของประเทศ โดยประชุมลับแต่ลงมติไม่ได้
- การตั้งกรรมธิการ มีอำนาจเรียกเอกสาร หรือเรียกบุคคลมาแถลงข้อเท็จจริง
การให้คำแนะนำหรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่ง ในองค์กรอิสระ ตุลาการ แต่ไม่มีอำนาจถอดถอนออกจากตำแหน่ง
- ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
- คณะกรรมการการเลือกตั้ง
- ผู้ตรวจการแผ่นดิน
- คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
- คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
- คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ