ข้อกังขาในแง่มุมกฎหมายต่อกรณี บิ๊กต่าย-พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) รักษาราชการแทน ผบ.ตร. ได้มีคำสั่งให้ บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ หักพาล รอง ผบ.ตร. ออกจากราชการไว้ก่อน อันเนื่องมาจากถูกกล่าวหา กระทำผิดวินัยร้ายแรง และต้องหาคดีอาญากรณีพัวพันเว็บพนันออนไลน์นั้น
ขณะนี้ “สำนักนายกรัฐมนตรี” ได้ส่งเรื่องไปให้ “คณะกรรมการกฤษฎีกา” ตรวจสอบข้อกฎหมายเกี่ยวกับคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ออกจากราชการไว้ก่อน ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ส่งกฤษฎีกาถกปมบิ๊กโจ๊ก
นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ออกมายอมรับเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2567 ถึงเรื่องดังกล่าวว่า จากกรณีที่เป็นข่าว ทางรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รักษาการ ผบ.ตร.) มีคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจ ระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ออกจากราชการไว้ก่อน เขาจึงส่งหนังสือมาถามว่ากรณีเช่นนี้ ต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พ้นจากราชการหรือไม่ ซึ่งประเด็นมีเพียงเท่านี้
เมื่อถามถึงขั้นตอนการให้ความคิดเห็นของกฤษฎีกา นายปกรณ์ ตอบว่า ก็ปกติ ก็ดูจากกฎหมายปกติ ดูจากรัฐธรรมนูญ และกฎหมายตำรวจ นำมาดูประกอบกัน เท่านั้นเองไม่มีอะไร โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้
ส่วนแนวโน้มที่จะต้องนำเรื่องนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้ออกจากราชการไว้ก่อนหรือไม่ นายปกรณ์ ระบุว่า ตนยังไม่เห็นผลของการวินิจฉัย ขออย่าเพิ่งไปเดาอะไรกันเลย พร้อมยืนยันว่า “ให้ว่ากันไปตามกฎหมาย”
“บิ๊กต่าย”รับเป็นครั้งแรก
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2567 พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาการ ผบ.ตร. กล่าวถึงกระแสข่าว สำนักนายกรัฐมนตรีส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบข้อกฎหมาย เกี่ยวกับคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ก่อนให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ ตามขั้นตอนต่อไปว่า กระบวนการยื่นให้กฤษฎีกาตีความคำสั่งนั้น คิดว่าจะต้องมีการประชุมหรือซักถามกันอย่างละเอียดรอบคอบก่อน
และทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนเกี่ยวกับนำความกราบบังคมทูลฯ เป็นขั้นตอนตามกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวซักว่าที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เคยยื่นเรื่องให้กฤษฎีกาตีความคำสั่งให้นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ออกจากราชการมาก่อนหรือไม่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ยอมรับว่า “เป็นครั้งแรก เท่าที่ทราบที่ผ่านมายังไม่เคยเห็น และยืนยันว่าหากมีการหารือกับทางกฤษฎีกา ก็จะต้องมีการแจ้งผลไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย”
10กฤษฎีกาชี้ชะตาบิ๊กโจ๊ก
สำหรับประเด็นคำสั่งให้ บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน ตกอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 2 นำทีมโดย นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ
พร้อมด้วยเหล่านักกฎหมาย และข้าราชการระดับแนวหน้า อีก 9 คน ที่ประกอบด้วยนักกฎหมาย และข้าราชการระดับสูงที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูง ในการตีความกฎหมาย ประกอบด้วย
คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ อดีตปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และอดีตเลขาธิการ ก.พ. เป็นรองประธาน
ส่วนกรรมการอีก 8 คน ประกอบด้วย นายอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, นางโฉมศรี อารยะศิริ อดีตรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี,
นายดิเรก อิงคนินันท์ อดีตประธานศาลฎีกา, ร้อยตำรวจตรี พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อดีตอัยการสูงสุด, นายมนัส แจ่มเวหา อดีตอธิบดีกรมบัญชีกลาง
นายประพันธ์ นัยโกวิท อดีตรองอัยการสูงสุด, นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และ นายนพดล เฮงเจริญ อดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด และอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ผลการตีข้อกฎหมายของ “คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 2” ที่นำโดย วิษณุ เครืองาม คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้
การพิจารณาคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ว่าผลจะออกมาในแนวทางใด ล้วนมีผลกระทบต่อชะตากรรมของ “บิ๊กโจ๊ก” ในอาชีพการรับราชการตำรวจ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำแหน่งสูงสุดของวงการ “สีกากี” นั่นคือ “ผบ.ตร.” ที่เจ้าตัวมีอาวุโสสูงสุด ที่จะก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่งดังกล่าวได้ ขณะที่อายุราชการก็เหลืออีกร่วม 7 ปี
...มารอลุ้นกันว่า “บิ๊กโจ๊ก” ยังมีโอกาสที่จะคัมแบ็คสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือไม่
+++++++
ทีมสอบวินัย“บิ๊กโจ๊ก”
ให้ออกราชการไว้ก่อน
เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา มีรายงานว่า คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรง บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ได้มีการประชุมกัน เพื่อพิจารณากรณี การเสนอแนะความเห็น ตามมาตรา 120 วรรคสี่ ของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565
เนื่องจากเป็นที่ถกเถียงและแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลายในแวดวงนักกฎหมาย จากกรณีที่ บิ๊กต่าย-พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาราชการแทน ผบ.ตร. ได้มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน
มีรายงานว่า ผลการพิจารณามีมติว่า เป็นกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง หรือต้องหาคดีอาญา ซึ่งไม่ใช่ความผิดที่กระทำโดยประมาท หรือ ลหุโทษ ดังนั้น ผู้ออกคำสั่งคือ รักษาการ ผบ.ตร. จึงมีอำนาจตามมาตรา 105 และ 108 สั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาพัก หรือ ให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามมาตรา 131 ได้
สำหรับกรรมการสอบวินัยร้ายแรง “บิ๊กโจ๊ก” และพวกรวม 5 ราย มี พล.ต.อ.สราวุฒิ การพานิช รอง ผบ.ตร. เป็นประธาน
ขณะเดียวกัน มีรายงานด้วยว่า “ทีมบิ๊กต่าย” ได้รับคำยืนยันจาก “กูรูกฎหมาย” ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาประเด็นนี้ด้วย สรุปว่า กรณีของ “บิ๊กโจ๊ก” ไม่ได้เข้าข่าย พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ มาตรา 120 แต่ไปเข้ามาตรา 131 กล่าวคือ
ตามมาตรา 131 วรรคหนึ่ง “บิ๊กต่าย” ในฐานะผู้บังคับบัญชา ย่อมมีอำนาจสั่งให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน ภายใต้เงื่อนไขว่า “หากผู้ถูกกล่าวหาทำผิดวินัยร้ายแรง จนถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา หรือถูกฟ้องคดีอาญา”
เงื่อนไขเหล่านี้ย่อมมีผลทำให้ผู้บังคับบัญชามีอำนาจ ที่จะสั่งพักราชการ และให้ออกจากราชการไว้ก่อนได้ โดยมาตรา 131 วรรคหนึ่ง ชี้ชัดว่า “เป็นอำนาจดุลยพินิจโดยเฉพาะของผู้บังคับบัญชา” โดยไม่ต้องรอให้คณะกรรมการสอบสวนทำข้อเสนอแนะเหมือน มาตรา 120 ซึ่งเกี่ยวกับการรอนสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้ถูกสอบสวน
แม้มาตรา 131 วรรค 6 จะบัญญัติว่า อำนาจของผู้บังคับบัญชาในการสั่งพักราชการ หรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน ต้องเป็นไปตามที่กำหนดใน กฎ ก.ตร. ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 131 วรรค 6 ก็ตาม