“บิ๊กโจ๊ก”ยังมีหวังคัมแบ็ก?

05 พ.ค. 2567 | 02:30 น.

“บิ๊กโจ๊ก”ยังมีลุ้นได้กลับมา? หลัง ก.ตร. ส่งคำร้องขอความเป็นธรรม ให้กองวินัยพิจารณาอีกรอบปมถูกย้ายไปมา เปิดโฉม ก.พ.ค.ตร. พร้อมเปิดกระบวนการวินิจฉัยอุทธรณ์ ผลออกได้ 4 แนวทาง : รายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3989

สถานการณ์ของ บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ที่ถูกรักษาการ ผบ.ตร. สั่ง “ให้ออกจากราชการไว้ก่อน” พร้อมตั้งคณะกรรมสอบสวนวินัยร้ายแรง หลังถูกดำเนินคดีอาญากรณีพัวพันกับเว็บพนันออนไลน์ 

ทำให้หลายฝ่ายประเมินว่า โอกาสที่ “บิ๊กโจ๊ก” จะได้ไปต่อในราชการตำรวจ หรือ ลุ้นเก้าอี้ ผบ.ตร. แถบจะปิดประตูตายไปเลย 

แต่ล่าสุด “บิ๊กโจ๊ก” ก็พอจะมีลุ้น มี “ที่ยืน” อยู่บ้างหรือไม่ หลังจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ได้รับทราบข้อร้องเรียนขอความเป็นธรรม 

ก.ตร.ตรวจสอบใหม่ปมบิ๊กโจ๊ก

โดย นายเศรษฐา ได้เปิดเผยหลังการประชุมก.ตร. เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแล้วตามที่มีการร้องเรียนมา เพื่อให้เกิดความรอบคอบ เป็นธรรมต่อคณะกรรมการ ก.ตร. โดยเฉพาะเลขาฯ ก.ตร. และ กองวินัยตำรวจ จึงมีข้อเสนอต่อที่ประชุม ก.ตร. ดังนี้ 

เรื่องขอความเป็นธรรมของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ทั้งหมด ส่งเรื่องให้ฝ่ายวินัย และฝ่ายกฎหมายไปพิจารณา ตรวจสอบให้รอบคอบ เป็นธรรม และนำมาเสนอ ก.ตร. ในโอกาสต่อไป

“ผมขอยืนยันในเรื่องนี้จะพิจารณาและดำเนินการ ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมโปร่งใส สุจริต ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย” ประธาน ก.ตร.ระบุ

เมื่อถามว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ร้องมากี่เรื่อง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ร้องในกรณีที่มีการย้ายไปย้ายมา โดยเห็นว่า ไม่เป็นธรรม จึงให้กองวินัย ไปพิจารณาอีกครั้ง โดย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ร้องเรียนมาแค่เรื่องเดียว

ขีดเส้น“โจ๊ก”รับข้อหา 7 พ.ค.

ขณะที่ก่อนหน้านั้น เมือวันที่  29 เม.ย. 2567 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) พล.ต.อ.สราวุฒิ การพานิช รอง ผบ.ตร. ในฐานะประธานได้เรียกประชุมคณะกรรมการสอบสวนวินัย บิ๊กโจ๊ก พร้อมพวกรวม 5 คน ที่ทำผิดวินัยร้ายแรงจนถูกออกจากราชการไว้ก่อน

พล.ต.อ.สราวุฒิ ระบุถึงกรอบเวลาในการดำเนินการว่า กฎระเบียบที่ ก.ตร. กำหนดไว้ มีกรอบระยะเวลา 15 วัน นับจากวันที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ คือวันที่ 22 เม.ย. ดังนั้น ทั้ง 5 ท่านจะต้องเข้ามารับทราบข้อกล่าวหาภายในวันที่ 7 พ.ค.นี้ ซึ่งก่อนวันที่ 7 จะต้องมีการส่งหนังสือแจ้งทางไปรษณีย์ให้กับทาง 5 ท่านทราบ 

หลังจากนั้น คณะกรรมการฯ จะต้องรวบรวมพยานหลักฐาน และสอบสวนพยาน ซึ่งมีกรอบระยะเวลา ทั้งหมดต้องไม่เกิน 270 วัน
“ขณะนี้ยังไม่ถือว่าออกจากราชการแล้ว 100% เนื่องจากขั้นตอนยังไม่ครบถ้วน จึงถือว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่”  พล.ต.อ.สราวุฒิ ระบุ

                             “บิ๊กโจ๊ก”ยังมีหวังคัมแบ็ก?

7 ก.พ.ค.ตร.ชี้ชะตาบิ๊กโจ๊ก

อีกด้านหนึ่ง ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2567  บิ๊กโจ๊ก ได้ เดินทางไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนกับ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ก.พ.ค.ตร.)  เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน เนื่องจากเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำอุทธรณ์ของ “บิ๊กโจ๊ก” จะฟังขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ ก.พ.ค.ตร. จำนวน 7 คน ที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ได้ลงนามเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2566 แต่งตั้ง ก.พ.ค.ตร. ขึ้น 7 คน ประกอบด้วย

1.นายสมรรถชัย วิศาลาภรณ์ เป็นประธาน (ประธานแผนกคดีบริหารงานบุคคล ในศาลปกครองสูงสุด) กรรมการประกอบด้วย 2.นายธวัชชัย ไทยเขียว (อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม) 3.พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี  (อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม, อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ, อดีต ผบ.ตร.)

4.นายวันชาติ สันติกุญชร (อธิบดีอัยการสำนักงานคณะกรรมการอัยการ, อัยการอาวุโส) 5.พล.ต.ท.อาจิณ โชติวงศ์ (อดีต ผู้ช่วย ผบ.ตร.) 6.พล.ต.อ.อำนาจ อันอาตม์งาม (อดีต ที่ปรึกษา (สบ10) ) และ 7. พล.ต.ท.ปัญญา เอ่งฉ้วน เป็นกรรมการและเลขานุการ (อดีต ผบช.สำนักงานกฎหมายและคดี สตช.

ขั้นตอนวินิจฉัย ก.พ.ค.ตร.

นายธวัชชัย ไทยเขียว หนึ่งใน ก.พ.ค.ตร. และรองโฆษก ก.พ.ค.ตร. ได้ออกมาชี้แจงถึงกรณีข้าราชการตำรวจอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง ว่า กระบวนการขั้นตอนการดำเนินการกรณีดังกล่าว เมื่อผู้อุทธรณ์ยื่นอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค.ตร. ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งประธาน ก.พ.ค.ตร. มอบหมายกรรมการคนหนึ่งเป็นเจ้าของสำนวนพิจารณาสำนวนอุทธรณ์ว่า เป็นอุทธรณ์ที่ถูกต้องครบถ้วนและมีลักษณะต้องห้ามหรือไม่

เมื่อถูกต้องครบถ้วนการพิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน เว้นแต่มีเหตุขัดข้องพิจารณาไม่แล้วเสร็จให้ขยายได้อีกไม่เกิน 2 ครั้งๆ ละไม่เกิน 60 วัน และให้บันทึกเหตุขัดข้องไว้

กรรมการสั่งรับอุทธรณ์แล้ว ให้มีคำสั่งให้คู่กรณีในอุทธรณ์ทำคำแก้อุทธรณ์ภายใน 30 วัน หรือ ภายในระยะเวลาที่กรรมการ

เจ้าของสำนวนกำหนด โดยส่งสำเนาคำอุทธรณ์และสำเนาพยานหลักฐานไป หรืออาจจะกำหนดประเด็นให้คู่กรณีในอุทธรณ์ทำคำแก้อุทธรณ์ เพื่อประโยชน์แก่การพิจารณาด้วยหรือไม่ก็ได้

เมื่อได้รับคำแก้อุทธรณ์ของคู่กรณีมาแล้ว กรรมการจะต้องส่งสำเนาคำแก้อุทธรณ์พร้อมทั้งสำเนาพยานหลักฐานกลับให้ผู้อุทธรณ์ทราบ   

หากข้อมูลยังไม่เพียงพอ กรรมการก็อาจออกคำสั่งเรียกให้ส่งสำนวนการสอบสวนและการลงโทษ หรือ เอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องภายในเวลาที่กำหนด หรือบุคคลใดที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งพยานหลักฐานหรือ เอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการแสวงหาข้อเท็จจริง หรือเรียกคู่กรณีมาชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อ ก.พ.ค.ตร. ตามที่เห็นสมควรได้

เมื่อได้มีการแสวงหาข้อเท็จจริงมาแล้ว กรรมการจะพิจารณาข้อเท็จจริงที่ได้มาทั้งหมด และเห็นว่าไม่มีกรณีที่จะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ก็ให้มีคำสั่งกำหนดวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงโดยแจ้งให้คู่กรณีทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 10 วัน 

กรรมการจัดทำบันทึกสรุปสำนวนเสนอต่อ ก.พ.ค.ตร. เพื่อพิจารณาวินิจฉัย และขอกำหนดวันพิจารณาวินิจฉัย และแจ้งวันประชุมพิจารณาวินิจฉัยให้คู่กรณีทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน 

ระหว่างก่อนถึงวันพิจารณาวินิจฉัยและมีมติ คู่กรณีมีสิทธิยื่นคำแถลงเป็นหนังสือในเรื่องนั้น ต่อ ก.พ.ค.ตร. ได้ วันพิจารณาวินิจฉัยคู่กรณีสามารถมาแถลงด้วยวาจาต่อ ก.พ.ค.ตร. ในการประชุมพิจารณาวินิจฉัยก็ได้  

4 แนวทางวินิจฉัย

ผลการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ก.พ.ค.ตร. จะออกมาว่า ไม่รับอุทธรณ์ ยกอุทธรณ์ หรือ มีคำวินิจฉัยให้แก้ไข หรือ ยกเลิกคำสั่งลงโทษและให้เยียวยาความเสียหายให้ผู้อุทธรณ์ รวมทั้งเร่งรัดติดตามการเยียวยา หรือ ให้ดำเนินการอื่นใดเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม 

แต่จะมีคำวินิจฉัยให้เพิ่มโทษไม่ได้ แต่เห็นสมควรเยียวยาความเสียหายให้ผู้อุทธรณ์ หรือ ดำเนินการอื่นใดเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมอาจกำหนดไว้ในคำวินิจฉัย โดยให้คำนึงถึงความเสียหายที่ชัดแจ้งซึ่งผู้อุทธรณ์ได้รับ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ของผู้อุทธรณ์ที่พึงได้รับตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เนื่องมาจากความเสียหายที่เกิดขึ้นประกอบด้วย 

นอกจากนี้ อาจกำหนดวิธีการชั่วคราวเพื่อการแก้ไขปัญหา หรือบรรเทาทุกข์ก่อนที่ ก.พ.ค.ตร. จะมีคำวินิจฉัยด้วยก็ได้ 
เมื่อ ก.พ.ค.ตร. มีมติออกมาประการใด ก็จะแจ้งคำวินิจฉัย หรือคำสั่งนั้นให้คู่กรณีทราบ พร้อมแจ้งสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดด้วย 

คำวินิจฉัยออกมาประการใด ผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งลงโทษต้องดำเนินการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยนั้น ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ ก.พ.ค.ตร. มีคำวินิจฉัย และถ้าไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. ให้ถือว่าเป็นการจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น

ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ก.พ.ค.ตร. ให้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ทราบ หรือ ถือว่าทราบคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร.  

...มารอดูกันว่า ในที่สุดแล้วการอุทธรณ์ ก.พ.ค.ตร. จะมีผลต่อการพลิกโชคชะตาของ “บิ๊กโจ๊ก” หรือไม่