“ธีรยุทธ"ยื่นศาลปกครองสั่งถอนกติกาเลือก สว. ยกเหตุขัดรัฐธรรมนูญ

21 พ.ค. 2567 | 13:19 น.
อัปเดตล่าสุด :21 พ.ค. 2567 | 13:26 น.

“ธีรยุทธ"ยื่นฟ้อง กกต. ต่อ ศาลปกครองสั่งเพิกถอนกติกาเลือก สว. ยกเหตุขัดรัฐธรรมนูญ เปิดช่องเอื้อคนมีพวก-เงิน ฮั้วจัดตั้ง พร้อมขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

วันนี้( 21 พ.ค. 67) นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก น.ส.วิเดือน งามปลั่ง ผู้สมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อศาลปกครอง ขอให้มีคำพิพากษาเพิกถอน ระเบียบกกต.ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ข้อ 91 ข้อ 3 ข้อ 6 และระเบียบกกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสว. ฉบับที่ 2 พ.ศ 2567 ข้อ 8 

และขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาระงับใช้ระเบียบดังกล่าวไว้ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา และส่งความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามมาตรา 212 วรรคหนึ่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. 2561 มาตรา 36 มาตรา 41 และมาตรา 42 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่ด้วย 

นายธีรยุทธ กล่าวว่า ที่ต้องมายื่นฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าระเบียบทั้ง 3 ฉบับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 107 ที่ได้วางหลักการสำคัญไว้ว่า การเลือกกันเองของ สว. จะต้องมีมาตรการที่ทำให้การเลือก สว. มีความสุจริต เที่ยงธรรมในทุกระดับ ป้องกันไม่ให้เกิดการฮั้ว ประชาชนต้องมีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งโดยตรงและโดยอ้อม โดยเน้นให้ประชาชนทั่วไปมีสิทธิ์ที่จะเข้ารับสมัคร จึงต้องไม่มีค่าใช้จ่ายเกินกำลังของบุคคลทั่วๆ ไป 

“ผมมองว่าค่าสมัครคนละ 2,500 บาท นั้นสูงเกินไป นอกจากนี้ในการแบ่งกลุ่มต้องแบ่งในลักษณะที่ทำให้ประชาชน ซึ่งมีสิทธิ์สมัครสามารถอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้”

ทั้งนี้ มองว่าระเบียบทั้ง 3 ฉบับ ที่มีข้อกำหนดให้ผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร สามารถช่วยผู้สมัครในการแนะนำตัว จะทำให้เกิดการแทรกแซง ครอบงำ จากบุคคลที่ไม่ใช่ผู้มีสิทธิ์เลือก ทำให้เกิดความได้เปรียบ ไม่เป็นธรรม ระหว่างผู้สมัครรับเลือกเป็น สว. ด้วยกัน 

การให้ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ และประชาชนอาจเข้าถึงข้อมูลนั้นได้ ก็เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้สมัครที่มีกำลังทรัพย์ กำลังคน เครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์ค สามารถใช้กลไกเหล่านี้สร้างความได้เปรียบ ไม่เป็นธรรม เหลื่อมล้ำ กับผู้สมัคร สว. รายอื่น 

และการที่ระเบียบเปิดช่องให้ผู้สมัครไม่ต้องลงคะแนนให้ตัวเอง จะทำให้เกิดการรับจ้างลงสมัคร เพียงเพื่อจะได้มีเสียงโหวต จากกลุ่มผู้สมัครที่จัดตั้งขึ้น หรือกลุ่มผู้สมัครนั้น อาจจะมีพฤติกรรมชี้นำ ครอบงำ ชักจูง สั่งการหรือสมยอมให้มีการเลือกเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบ ทำให้การเลือก สว. เกิดความเสียหายยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง จึงขอให้ศาลมีคำสั่งตามที่ร้องขอ