อัปเดตล่าสุด กฎหมาย ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม รับ Pride month 2024

30 พ.ค. 2567 | 09:30 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2567 | 15:26 น.

ต้อนรับเดือน Pride month 2024 เช็คไทม์ไลน์ล่าสุดกฎหมาย "ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม" ที่ต้องรอประชุมวุฒิสภาเตรียมพิจารณาร่างกฎหมายวาระ 2 วันที่ 18-21 มิ.ย.นี้

ในเดือนมิถุนายนถูกประกาศให้เป็นเดือน "Pride Month" เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นช่วงเวลาที่กลุ่ม LGBTQ+ ทั่วโลกรวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองอิสรภาพเป็นตัวของตัวเอง

สำหรับประเทศไทยนับเป็นอีกหนึ่งประเทศที่สังคมเปิดกว้างสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างมาก สิ่งที่เห็นเด่นชัดมากที่สุดเรื่องหนึ่ง คือ ความก้าวหน้าของ กฎหมาย พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่ขณะนี้อยู่ในขั้นการพิจารณาของรัฐสภา  

ก่อนหน้านี้ปลายปี 2566 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ได้เห็นชอบรับหลักการ (วาระแรก) ของร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม จำนวน 4 ฉบับ ซึ่งประกอบด้วย ฉบับของรัฐบาล, ฉบับของภาคประชาชน, ฉบับของพรรคก้าวไกล และฉบับของพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมตั้งกรรมาธิการเพื่อพิจารณา

 

จากนั้นปลายเดือนมีนาคม 2567 ได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ในวาระ 2 และ 3 ต่อมาสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้พิจารณาต่อจากสภาผู้แทนราษฎรได้เห็นชอบร่างกฎหมายฉบับดังกล่าววาระแรกเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567

ปัจจุบันร่างกฎหมายฉบับนี้ยังอยู่ในชั้นของกรรมาธิการ สว.เพื่อนำเข้าสู่การประชุมของวุฒิสภาในวาระ 2 ลงมติรายมาตราและพิจารณาเห็นชอบในวาระ 3 ก่อนจะสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ข่าวดีล่าสุดในวันนี้ (30 พฤษภาคม 2567) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ซึ่งเป็นประธานการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา เปิดเผยว่า ในการประชุมพิจารณากำหนดระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภา (สมัยวิสามัญ) ในวันที่ 18-21 มิ.ย.นี้ ว่า

นอกจากการพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด และประธานศาลปกครองสูงสุด รวมถึงให้ความความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดแล้ว จะมีการพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วรวมอยู่ด้วย 

 

ย้อนไทม์ไลน์ "กฎหมายสมรสเท่าเทียม" 

ปี 2561 

  • ภาคประชาชนจัดงานครบรอบ 10 ปี วันสิทธิความหลากหลายทางเพศพร้อมยื่นข้อเสนอสมรสเท่าเทียมกับพรรคการเมืองต่าง ๆ 

ปี 2563 

  • พรรคก้าวไกลยื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมต่อสภา 
  • คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และ ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม บรรจุวาระประชุมสภา 

ปี 2564 

  • กลุ่มภาคีสีรุ้งเพื่อการสมรสเท่าเทียมเปิดให้เข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมภาคประชาชน มีประชาชนร่วมลงชื่อกว่า 3.6 แสนคน 

ปี 2565 

  • ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต และ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิยช์ ที่เสนอโดย ครม. รวมถึง ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับพรรคประชาธิปัตย์ ถูกบรรจุเข้าเข้าสภาฯ
  • สภาผ่านร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมและร่าง พร.บ.คู่ชีวิต วาระที่ 1 บรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภาในวาระที่ 2 และ 3 

ปี 2566 

  • ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมและร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตถูกปัดตกจากสภาเนื่องจาก ครม.ชุดใหม่ไม่ได้นำมาพิจารณาภายใน 60 วันหลังเปิดประชุมสภาชุดใหม่ 
  • สภารับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม จำนวน 4 ฉบับในวาระแรก พร้อมตั้งกรรมาธิการพิจารณาวาระ 2 โดยใช้ร่าง ครม.เป็นหลัก

 

ปี 2567 

  • 14 มีนาคม 2567 กรรมาธิการ สส. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมเสร็จสิ้น
  • 27-29 มีนาคม 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เห็นชอบในวาระที่ 2 และ 3 
  • 2 เมษายน 2567 สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม วาระ 1 พร้อมตั้งกรรมธิการ สว.พิจารณารายละเอียด 
  • 18-21 มิถุนายน 2567 ในการประชุมวุฒิสภา (สมัยวิสามัญ) เตรียมพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ กมธ.วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว